xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยจุฬาฯ พบ"หอยทากบกเรืองแสง"ในไทยครั้งแรก เตรียมถอดรหัสพันธุกรรมต่อยอดงานวิจัยทางการแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิจัยจุฬาฯพบหอยทากบกเรืองแสงตัวแรกของไทย และของโลกในรอบ 80 ปี เตรียมถอดรหัสพันธุกรรม ปูทางสู่การวิจัยทางการแพทย์และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านการเรืองแสงของหอย เผยชนะผลโหวตเป็นอันดับ 1 ถูกคัดเลือกให้เป็น "หอยนานาชาติ ประจำปี 2024" จากเวทีแข่งขันหอยและหมึกนานาชาติปี 2567 จากทั่วโลก

หอยทากบกเรืองแสงถูกค้นพบครั้งแรกในโลกเมื่อปี พ.ศ.2485 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดย ดร.ยาตะ ฮาเนดะ (Dr. Yata Haneda) นักวิจัยชาวญี่ปุ่น ซึ่งหอยทากสกุล Quantula ชนิด Striata จัดได้ว่าเป็นหอยทากบกเพียงชนิดเดียวในโลกที่เรืองแสงได้

เกือบ 80 ปีต่อมา หอยทากบกเรืองแสงถูกค้นพบอีกครั้งในประเทศไทย โดยทีมนักวิจัยจุฬาฯ นำโดย ดร.อาทิตย์ พลโยธา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบหอยเรืองแสงตัวแรกของไทย เป็นหอยทากบกสกุล Phuphania ที่อาศัยอยู่บริเวณเขาหินปูน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

ดร.อาทิตย์ กล่าวว่า การค้นพบหอยเรืองแสงในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศของไทยมีความหลากหลาย และน่าจะยังมีสัตว์หรือพืชพันธุ์อีกหลายอย่างที่มีเฉพาะในประเทศไทยหรือเฉพาะในภูมิภาคนี้เท่านั้น ที่รอให้เราค้นพบและศึกษา

ทีมนักวิจัยจุฬาฯ ได้ส่งข้อมูลเรื่องราวการค้นพบ "หอยทากบกเรืองแสงของไทย" เข้าร่วมแข่งขันในเวที "International Mollusc of the Year 2024" การแข่งขันหอยและหมึกนานาชาติปี 2567 มีหอยและหมึกจากทั่วโลกเข้าร่วมมากกว่า 50 ชื่อ หอยทากบกเรืองแสงของไทยชนะผลโหวตเป็นอันดับ 1 ถูกคัดเลือกให้เป็น "หอยนานาชาติ ประจำปี 2024"

ดร.อาทิตย์ กล่าวว่า การค้นพบการเรืองแสงทางชีวภาพในหอยทาก เริ่มต้นจากทีมวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางและอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.จิรศักดิ์ สุจริต, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิโยรส ทองเกิด และดร.อาทิตย์ ทีมวิจัยได้ศึกษาความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของหอยทากบก พบว่าหอยทากบกสกุล Quantula ที่ค้นพบครั้งแรกโดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่นนั้น มีความใกล้ชิดกับหอยทากบกสกุล Phuphania ในประเทศไทย จึงเริ่มวางแผนการศึกษาและสำรวจความหลากหลายของหอยทากบกในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย

ทีมวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เริ่มศึกษาวิจัยหอยทากบกเรืองแสงของไทยโดยร่วมมือกับทีมนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น การศึกษาวิจัยหอยทากบกเรืองแสงดำเนินไป 3 ปี ผลงานวิจัยหอยทากบกเรืองแสงของไทยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ฉบับที่ 13 ในปี 2566

หอยทากบกสกุล Quantula ที่นักวิจัยชาวญี่ปุ่นค้นพบนั้นจะเปล่งแสงสีเขียวเป็นจุดขนาดเล็กบริเวณใต้ปาก ไม่สามารถเปล่งแสงสีเขียวอย่างต่อเนื่องได้ แต่หอยทากบกสกุล Phuphania ของไทยมีความพิเศษคือสามารถเปล่งแสงสีเขียวได้อย่างต่อเนื่อง แสงสีเขียวที่เรืองแสงจะมาจากเซลล์เปล่งแสงที่อยู่บริเวณใต้ปากและเนื้อเยื่อแมนเทิล ส่วนหอยทากบก ชนิด Phuphania crossei ซึ่งเป็นชนิดที่ส่งเข้าประกวดได้รับผลโหวตชนะเลิศในครั้งนี้ มีความพิเศษคือสามารถเรืองแสงออกมาได้อย่างต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืน และเป็นชนิดเดียวในสกุลนี้ที่มีเซลล์เรืองแสงอยู่บริเวณเท้าส่วนหน้าด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิโยรส ทองเกิด หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวถึงการวิจัยเกี่ยวกับหอยในอนาคตว่า หอยทากบกเรืองแสงของไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น International Mollusc of the Year จะได้นำไปวิเคราะห์และผลิตข้อมูลจีโนมฉบับเต็ม ซึ่งข้อมูลที่ได้จะต้องนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับหอยเรืองแสงในระบบนิเวศอื่นๆ เพื่อให้เข้าใจวิวัฒนาการของการเรืองแสงในสัตว์กลุ่มนี้

นอกจากการศึกษาเรื่องการเรืองแสงของหอย ทีมวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กำลังศึกษาเกี่ยวกับ "เมือกจากหอย" เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะในการผลิตเป็นผ้าก็อตพันแผล

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยได้ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาจีโนมของหอยเพื่อหาโปรตีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตเมือกเหนียว การค้นพบโปรตีนเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจกระบวนการทางชีวภาพที่ทำให้หอยสามารถผลิตเมือกที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวได้ และอาจนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูงได้ในอนาคต