จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา รับวินิจฉัยประเด็นว่า พ.ร.ป.ว่า ด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 จำนวน 4 มาตรา ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ โดย 4 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 36 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้สมัคร แนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต. กำหนด หรือบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้สมัคร จะช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัวต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด ส่วนมาตรา 40 วรรคหนึ่ง (3) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3) และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง (3) เกี่ยวข้องกับวิธีการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศ ที่กำหนดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่ม ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัด ลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 คน และไม่เกิน10 คน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนน มิได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องยื่นต่อ ศาลรัฐธรรมนูญภายใน 5 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
ล่าสุด นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวสั้นๆ ว่าได้ลงนามในเอกสารชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว คาดว่าจะส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญภายในวันนี้ (10 มิ.ย.) ส่วนรายละเอียดขอยังไม่ตอบ
ก่อนหน้านี้ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย 4 มาตรา ดังกล่าวข้างต้น ต่อมาทาง กกต. ได้มีการประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2557 จากนั้น เลขาธิการ กกต.ได้แถลงในวันเดียวกันว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ และเดินหน้าจัดให้มีการเลือก สว.ระดับอำเภอ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีเหตุผล 4 ข้อ คือ 1. ศาลระบุว่า ยังไม่ปรากฏว่าจะเกิดความเสียหายร้ายแรงยากแก่การเยียวยาได้ในภายหลัง 2. เหตุผลในการรับคำร้อง ระบุว่า ยังไม่เหตุจำเป็นที่หลีกเลี่ยงได้ตามกฎหมายจนอยู่ในวิสัยที่จะเยียวยาในภายหลังไม่ได้ 3. รัฐธรรมนูฐมาตรา 132 เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับใดส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข่อง รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบ ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ที่ใช้สำหรับการเลือก สว.ครั้งนี้ก็ผ่านขั้นตอนนี้มาแล้ว และ 4. กกต.กำลังปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ออกโดยชอบด้วยรัฐสภา ซึ่งคือกฎหมายการเลือก สว.ฉบับนี้ พร้อมย้ำว่าวันข้างหน้า ถ้ามีเหตุจำเป็นอันอาจหลีกเลี่ยงได้ กกต.คงใช้อำนาจตามหน้าที่ที่มี ในการแก้ไขปัญหานี้