xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.หวั่นงบปี 68 ก่อพายุหนี้ สวนทางสภาพเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในวันที่ 19-21 มิถุนายนนี้ ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา แต่ที่น่ากังวลคือถึงตอนนี้ ส.ส.และประชาชนยังไม่ได้เห็นเอกสารฉบับเต็มเลย เนื่องจากยังต้องรอให้ผ่านการพิจารณาของ ครม. ในวันที่ 11 มิ.ย. เสียก่อน ทำให้เหลือเวลาให้ ส.ส.ได้ศึกษารายละเอียดทั้งหมดประมาณหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น

แต่ถึงอย่างนั้นตนก็อยากให้ประชาชนติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีการหมกเม็ดอะไรไว้ เนื่องจากข้อมูลล่าสุดที่มีการเปิดเผยออกมา พบว่า งบ 68 มีข้อสังเกตหลายประการที่จะพาประเทศไทยเข้าสู่ ‘ยุคกู้หนี้ยืมสิน’ อย่างเต็มตัว สวนทางกับความสามารถในการหารายได้ ยิ่งเวลาผ่านมาเกือบปีแล้ว ยิ่งพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาลเศรษฐา ได้เป็นอย่างดีว่าไม่สามารถทำให้พี่น้องประชาชนมีกินมีใช้ มีเกียรติมีศักดิ์ศรีไปพร้อมกันได้ตามคำโฆษณาเพื่อหาเสียงเลย

นายร่มธรรม กล่าวต่อไปว่า ด้วยการที่รัฐบาลเศรษฐามีบาดแผลฝังลึก จึงหวั่นไหวกับคำว่าตระบัดสัตย์ค่อนข้างมาก ทำให้ต้องพยายามทุกทางเพื่อให้นโยบายดิจิตอลวอลเล็ตเดินหน้าได้ อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าตอนพรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายนี้ในการหาเสียงกับประชาชนน่าจะยังคิดไม่เสร็จ ทำให้แนวทางเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด ที่สำคัญคือตอบไม่ได้ว่าจะเอาเงินจากไหนมาทำโครงการ แต่ตอนนั้นปฏิเสธเสียงแข็งทุกเวทีว่าไม่กู้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้เห็นหน้าตาคร่าวๆ ของงบ 68 แล้ว ต้องบอกว่าเป็นมหกรรมการกู้ครั้งใหญ่เพื่อเอามาทำโครงการนี้ ภายใต้คำว่าการตั้งงบแบบขาดดุล ซึ่งตนเชื่อว่าจะพัฒนากลายเป็น ‘พายุหนี้’ ที่ส่งผลกระทบต่อไประยะยาวอย่างแน่นอน

“งบ 68 เป็นงบแห่งการกู้หนี้ยืมสินเพื่อเอามาแจกแบบพิสดาร โดยปลายทางของเส้นเงินแสนล้านจะแบ่งกันไปกระจุกอยู่ในกระเป๋าเจ้าสัวไม่กี่คน ส่วนกระเป๋าตังค์ของรัฐน่าจะฉีก เพราะเป็นการเสนอตั้งงบประมาณแบบขาดดุลวงเงิน 3,752,700 ล้านบาท โดยปี 68 รัฐบาลคาดว่าจะมีรายได้สุทธิ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท ส่งผลให้งบ 68 มีการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 865,700 ล้านบาทที่ต้องขอกู้เพิ่ม เมื่อนำมาบวกกับวงเงินที่เพิ่งขอกู้เดิมปี 67 จำนวน 693,000 ล้านบาท ก็จะเกือบเต็มกรอบวงเงิน ตามเงื่อนไข พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ที่กำหนดไว้ 865,740 ล้านบาท การกู้เต็มเพดานขนาดนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงจะเป็นภาระผูกพันจากดอกเบี้ยที่ต้องตั้งงบปีถัดๆไปมาจ่าย ทำให้การจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาหรือลงทุนใหม่ๆมีข้อจำกัดมากขึ้น เสมือนเป็นการเบียดบังโครงการอื่นๆเพื่อมาตอบสนองเพียงมาตรการเดียว ทำให้ไม่สามารถพัฒนาหลายๆมิติไปพร้อมกันได้

นายร่มธรรม กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลนี้พบว่า การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบ 67 ถึง 24.9% และคิดเป็นสัดส่วน 4.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขณะที่ ปี 67 มีสัดส่วน 3.7% ของ GDP โดยก่อนหน้าที่มีคำเตือนจากทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่ารัฐบาลควรลดขนาดการขาดดุลงบประมาณและกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการเพิ่มรายได้และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกรวมถึงสถานการณ์ฉุกเฉินในระยะข้างหน้า เนื่องจากต้องยอมรับว่าขณะนี้มีความตึงเครียดในสถานการณ์โลกค่อนข้างสูง ส่งผลต่อต้นทุนหลายอย่าง เช่น พลังงานและอื่นๆ รวมถึงปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแรงกดดันต่อไทยสูง อาจส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะกลางและระยะยาวได้