xs
xsm
sm
md
lg

'อ.หริรักษ์'เชื่อคงไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุว่า คงไม่มีใครแม้คนเดียวที่จะไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อให้ผู้ที่ร่วมในการชุมนุมขับไล่รัฐบาลแต่ละชุดและถูกดำเนินคดี ไล่ตั้งแต่ชุดคุณทักษิณ ชินวัตร จนถึงชุดพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือแม้แต่จะเลยมาถึงชุด คุณเศรษฐา ทวีสิน ก็ตาม ได้พ้นผิด บนข้อเท็จจริงที่ว่า เขาเหล่านั้นได้ทำไปเพื่อส่วนรวม ด้วยความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า สิ่งที่ทำไปล้วนทำเพื่อให้ประเทศชาติดีขึ้นกว่าเดิม

เงื่อนไขที่สำคัญของการนิรโทษกรรม ก็คือการกระทำเหล่านั้นต้องไม่เป็นความผิดทางอาญาร้ายแรง เช่น ฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือการฉวยโอกาสปล้นทรัพย์ หรือลักทรัพย์ผู้อื่น และต้องไม่รวมถึงคดีการทุจริตคอรัปขั่นของนักการเมือง

หากเป็นไปตามนี้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็คงจัดทำแล้วเสร็จได้เร็ว และผ่านสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาอย่างรวดเร็ว อันจะทำให้นักโทษต่างๆที่ต้องถูกลงโทษเพราะเหตุการณ์ทางการเมืองเหล่านี้ และผู้ที่กำลังอยู่ในระหว่างการถูกเนินคดี และครอบครัวของเขาเหล่านั้นที่ต้องได้รับความทุกข์ทรมาณมาเป็นเวลานาน ได้พ้นทุกข์ และกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติเสียที

อย่างไรก็ดี การที่ความพยายามในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต้องสะดุด และเผชิญกับอุปสรรคจนต้องล่าช้าและยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะสำเร็จได้เมื่อใด ก็เพราะมีความพยายามในการที่จะให้รวมคดีความผิดตามมาตรา 112 เข้าไปด้วย กลุ่มคนที่พยายามก็เป็นที่ทราบกันดีว่าก็คือ พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และแนวร่วมทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยก็มีมากมาย เรียกได้ว่า นอกจากพรรคก้าวไกล พรรคการเมืองส่วนใหญ่แสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วย พรรคการเมืองที่เดิมก็ดูเหมือนจะไม่เห็นด้วย แต่แล้วก็กลับลำมาโยนหินถามทาง อ้างว่าปีนี้เป็นปีมหามงคล นั่นเป็นเพราะอะไรและเพื่อใครคงไม่ต้องกล่าว

ความพยายามที่จะรวมความผิดตามมาตรา 112 เข้าไปใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงเป็นการสร้างความขัดแย้งในในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น เชื่อได้เลยว่าหากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม รวมเรื่องนี้เข้าใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วย ความขัดแย้งจะยิ่งทวีคูณ และจะมีการชุมนุมประท้วงซึ่งอาจบานปลายไปกว่าที่ทุกคนคาดคิด

หากถามว่า การรวมความผิดตามมาตรา 112 เข้าไปใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นการสมควรหรือไม่ ก็อยากขอนำความเห็นของ รศ.ดร.เจษฏ์ โทณวนิก ที่ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้ที่ทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่ควรพ้นความผิดจากการนิรโทษกรรม แต่ควรได้พ้นความผิดจากการพระราชทานอภัยโทษของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ท่านคือผู้เสียหาย

ลองคิดดูว่า หากมีคนมากล่าวถึงตัวเราโดยออกสื่อว่า เราเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนในคดีอาญาร้ายแรง ซึ่งเป็นความเท็จ เราย่อมไม่พอใจ และดำเนินการฟ้องหมิ่นประมาทคนผู้นั้น เรื่องแบบนี้แกนนำคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกลก็ทำ แต่แล้วอยู่ดีๆก็มีคณะบุคคลจำนวนหนึ่งมาชี้ขาดว่าคนผู้นั้นต้องได้รับการนิรโทษกรรม พ้นจากความผิดไปโดยที่เรายังไม่ได้ให้ความยินยอม อย่างนี้จะได้หรือไม่ ฉันใดก็ฉันนั้น

ขอให้ผู้ที่พยายามนำความผิดตามมาตรา 112 เข้าอยู่ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ว่าจะทำเพื่อใคร นึกถึงคนที่เขาต้องอยู่ในความทุกข์ทรมานเพราะต้องโทษจากคดีที่เกิดขึ้น เพราะการชุมนุมทางการเมืองทุกคน พวกคุณกำลังทำให้โอกาสที่จะทำให้พวกเขาได้พ้นจากความผิด พ้นจากความทุกข์ทรมานที่พวกเขาและครอบครัวกำลังเผชิญอยู่ เกิดขึ้นล่าช้าต่อไปอีก เท่านั้นไม่พอ พวกคุณยังกำลังสร้างความขัดแย้งที่มีอยู่มากแล้วในสังคม ให้ขยายบานปลายออกไปอีก จนอาจถึงการเกิดความวุ่นวายจนควบคุมไม่ได้

พวกคุณกำลังเห็นแก่ตัว เห็นแก่นายใหญ่ และเห็นแก่พวกพ้องมากเกินไปหรือไม่