xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ องค์กรต้านคอร์รัปชัน แฉวิธีโกงที่ดิน ส.ป.ก.ทำยังไง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า รุกป่า โกงที่ ส.ป.ก. โกงยังไง

ผืนป่าจำนวนมากถูกบุกรุกกลายเป็นโรงแรม รีสอร์ท โรงงาน บ้านพักตากอากาศ ตกเป็นคดีครึกโครมระดับชาติจำนวนมาก เช่น ที่ดินรถไฟเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ สนามกอล์ฟและสนามแข่งรถที่เขาใหญ่ ฟาร์มเป็ดที่ราชบุรี การออก ส.ป.ก. ทับที่เขาใหญ่ เป็นต้น

ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ในปี 2567 มีคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ 1,513 เรื่อง เฉพาะที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต 30 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนพฤติกรรมของผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามด้วยเจ้าหน้าที่ที่ดิน และ ส.ป.ก.

โกงยังไง!! วันนี้จะเล่าเรื่องบุกรุกผืนป่าในทำเลทอง โดยนำเหตุการณ์จริงในคดีออกโฉนดทับที่ป่าสงวนริมหาดยามู จ.ภูเก็ต มาอธิบาย และคอร์รัปชันเกี่ยวกับที่ดิน ส.ป.ก.

โกงเป็นเครือข่ายใหญ่..

เริ่มจากกลุ่มนายทุน (1) เมื่ออยากได้ที่ดินป่าสงวนในทำเลทองก็ชี้เป้าที่ดินผืนที่ต้องการและมอบเงินค่าดำเนินการก้อนใหญ่ให้กลุ่มผู้ดำเนินการหรือผู้ประสานงาน (2) ไปหาทางออกโฉนดที่ดินแปลงนั้น แล้วขบวนการสมคบคิดก็เริ่มต้นโดยทุกคนที่เกี่ยวข้องต่อไปนี้ต้องมาวางแผนรับรู้ร่วมกัน

ขั้นต่อไปเมื่อมีการยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดิน เจ้าหน้าที่ที่ดิน (4) จะออกทำรังวัดและแจ้งให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงมารับรองแนวเขต ในกรณีนี้เป็นที่ป่าสงวน เจ้าหน้าที่ “ป่าไม้” (3) ที่รับผิดชอบเขตดังกล่าวได้ออกจดหมายแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ที่ดินด้วยข้อมูลเท็จว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่นอกเขตป่าสงวน จดหมายนี้กลายเป็นสารตั้งต้นไปจนจบกระบวนการออกโฉนด

ขั้นตอนนี้มักมีการสอบยืนยันข้อมูลการใช้ที่ดินจากฝ่ายปกครองในท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านด้วย

ในการออกสำรวจรังวัดในสถานที่ เจ้าหน้าที่ที่ดิน (4) และนายช่างรังวัดพร้อมแผนที่และอุปกรณ์ ย่อมต้องเห็นสภาพแท้จริง แต่ก็ไม่บันทึกข้อมูลหรือตั้งข้อสังเกตว่าที่ดินแปลงนั้นอาจอยู่ในเขตป่าสงวนหรือไม่ แล้วจัดทำเอกสารตามขั้นตอนในสำนักงานที่ดิน ก่อนส่งเรื่องถึงผู้ว่าราชการจังหวัด (5) เพื่อพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอน เนื่องจากเป็นที่ดินไม่มีเอกสารแจ้งการครอบครอง (เช่น ส.ค.1 - น.ส.3)

เมื่อผู้ว่าฯ ลงนามอนุมัติแล้ว ส่งเรื่องกลับไปยังเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อออกโฉนด ขั้นตอนมากมายนี้กลุ่มผู้ดำเนินการเป็นผู้เดินเรื่องทั้งสิ้น ในขณะที่กลุ่มนายทุนมีหน้าที่จ่ายเงิน ลงนามทำนิติกรรมแล้วรอรับโฉนดสกปรกไปนอนกอด

แน่นอนว่า เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนที่กล่าวถึงนี้ต่างได้รับเงินใต้โต๊ะก้อนใหญ่ทุกครั้ง โดยรับรู้กันว่างานใหญ่มูลค่าสูงมักมีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ร่วมรับผลประโยชน์ด้วย

ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

ปกติแล้วกลุ่มนายทุนมีหลากหลายทั้งชาวไทยและต่างชาติ พวกเขาไม่ชอบลงทุนคนเดียวแต่ร่วมมือเป็นเครือข่าย เพื่อช่วยเหลือกันและกระจายความเสี่ยงในหลายโครงการที่ลงทุนอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ดำเนินการที่มีอยู่จำนวนมากและพร้อมรับงานจากนายทุนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ทั่วประเทศ ในแต่ละกลุ่มจะแบ่งงานกันทำและพึ่งพาเครือข่ายเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกัน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามคดีด้านนี้กล่าวว่า กลุ่มนายทุนและกลุ่มผู้ดำเนินการต่างทำงานเป็นเครือข่ายอาชญากรรม (Organized Crime) แบ่งงานกันวิ่งเต้นติดสินบนอย่างต่อเนื่องด้วยความชำนาญ รอบรู้กฎหมาย ช่องทางราชการและตัวเจ้าหน้าที่ทุกระดับ จึงเป็นงานหนักและยากที่จะปราบปราม

คอร์รัปชัน ที่ดิน ส.ป.ก.

การครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. เกิดเป็นคดีความ 3 รูปแบบหลักๆ

รูปแบบแรก เป็นการซื้อขายเปลี่ยนมือผู้ครอบครอง ส.ป.ก. จากเกษตรกรรายเดิม แต่ผู้ซื้อผิดคุณสมบัติ ผิดเงื่อนไขของกฎหมาย เช่น ไม่ใช่เกษตรกรจริง หรือบุคคลเดียวถือครองที่ดินหลายแปลง

รูปแบบที่สอง การออกเอกสาร ส.ป.ก. ใหม่ให้ผู้ขอ แต่ผิดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับ หรือที่ดินแปลงนั้นยังเป็นป่าสมบูรณ์ หรือไม่เหมาะกับการเกษตรเช่น ที่ลาดเชิงเขา

รูปแบบที่สาม เกิดการบุกรุกป่าและเร่งออก ส.ป.ก. ใหม่จำนวนมากอย่างรวดเร็วผิดปรกติ หลายกรณีเข้าข่ายผิดกฎหมาย อันเป็นผลมาจากรัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนให้สิทธิ์ครอบครอง ส.ป.ก. สามารถซื้อขายได้ จำนองได้ ใช้ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ก็ได้ จนเกิดเหตุการณ์ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ แสดงความกล้าหาญเปิดวิวาทะกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ หลังการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้ออกเอกสาร ส.ป.ก. ทับที่ป่าเขาใหญ่จำนวนมาก

ในโพสต์หน้าจะกล่าวถึงสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้การรุกป่า โกงที่ ส.ป.ก. บานปลายทั่วประเทศ

ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
6 มิถุนายน 2567