xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับทราบมาตรการรับมือฤดูฝน เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (4 มิถุนายน 2567) มีมติรับทราบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอ และมอบหมายหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว โดยรายงานให้ กนช. ทราบ พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กนช. รายงานว่า ตามปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ให้หน่วยงานนำไปใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติงาน สำหรับช่วงฤดูฝน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม และสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี (ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน และสิ้นสุด วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ของทุกปี)
ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ (1) ช่วงก่อนฤดูฝน เป็นการเตรียมการและสร้างการรับรู้ (2) ช่วงระหว่างฤดู เป็นการวิเคราะห์ ติดตาม ประเมินสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยและการให้ความช่วยเหลือ และ (3) ช่วงสิ้นสุดฤดู เป็นการประเมินผลเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล ซึ่งในช่วงก่อนฤดูกาลของทุกปีจะมีการจัดทำมาตรการรับมือฤดูฝน

ในครั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับทุกภาคส่วนประชุมหารือกำหนดมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 จำนวน 10 มาตรการ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันท่วงที รวมทั้งได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปี 2567/2568 โดยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้

"มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567" มีจำนวน 10 มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ 1 – คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง (เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป)

มาตรการที่ 2 – ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 3 – เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยงและศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 4 – ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 5 – เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 6 – ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย และฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 7 – เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน (ภายในเดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน 2567)

มาตรการที่ 8 – สร้างความเข้มเข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 9 – การสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 10 – ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน)

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูใน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568” ระยะเวลาดำเนินการ 120 วันนับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ โดยแบ่งไว้ทั้งหมด 5 กิจกรรม ดังนี้

– การซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์
– การปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวา
– การขุดลอกคูคลอง
– การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และ
– การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง

ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่าตอนนี้ทางรัฐบาลโฟกัสในเรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อตอบโจทย์ด้านการเกษตร ด้านการปกป้องดูแลระบบนิเวศ และด้านการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม อีกสิ่งสำคัญคือ ตอนนี้นโยบายของรัฐคือ การเชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลกให้มาประกอบธุรกิจในไทย การมีระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดีนั้น จะทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ เรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ

นอกจากนี้ วันนี้ ครม. มีมติรับทราบแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนออีกด้วย ซึ่ง แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นเป้าหมาย ของแผนปฏิบัติฯ คือการเพิ่มความจุกักเก็บน้ำ 1,544.86 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ 7.5 ล้านไร่ และมีประชาชนได้รับประโยชน์ 5,623,955 ครัวเรือน

รวมถึงมีพื้นที่ได้รับการป้องกัน 5.97 ล้านไร่ และมีเขื่อนป้องกันตลิ่งความยาว 552,817 เมตร โดยจะใช้งบประมาณทั้งประเทศ จำนวน 440,431.2 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568