นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการเข้าร่วมกิจกรรมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) และการรับรองถ้อยแถลงระดับผู้นำฯ และเห็นชอบต่อร่างความตกลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง ร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิพิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่สำคัญ โดยที่ประชุมรับทราบพัฒนาการของการเจรจาและแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปตลอดจนการจัดทำข้อริเริ่มและการดำเนินโครงการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมที่สำคัญอื่น ๆ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมกับผู้นำ IPEF รับรองถ้อยแถลงระดับผู้นำฯ เมื่อ 14 พฤจิกายน 2566 โดยร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง เพื่อจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนและติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือ IPEF ในระดับรัฐมนตรี
สำหรับร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อน มุ่งเน้นความร่วมมือเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ กรอบการระดมทุน นโยบาย มาตรการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการลงทุน ช่วยลดการปล่อยก๊ายเรือนกระจก กำจัดคาร์บอน
สำหรับร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยเศรษฐกิจที่เป็นธรรม สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการด้านการต่อต้านการทุจริตและการบริหารจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ป้องกันการทุจริต ฮั้วประมูล การฟองเงิน การคุ้มครองแรงงาน ในการทำการค้า การลงทุนรองรอบกระแสโลกยุคใหม่ ตามหลักธรรมาภิบาล