นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้ก้าวสู่เศรษฐกิจใหม่ ดำเนินมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราในประเภทต่างๆ ทำให้มีบุคลากรต่างชาติที่ได้รับการอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย ทั้งวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานภายใต้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน วีซ่าพำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) และวีซ่าดึงดูดบุคลากรทักษะสูงและนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (Smart Visa) ผ่านศูนย์ One Stop Service รวมทั้งสิ้นกว่า 56,000 คน
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมมือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงแรงงาน มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวต่างชาติที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญพิเศษ (Talent) นักลงทุน และผู้ที่ต้องการเข้ามาทำงานและอาศัยในประเทศไทย ผ่านการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One Start One Stop Investment Center: OSOS) ณ ชั้น 18 ตึกจามจุรีสแควร์ ซึ่งเป็นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (https://osos.boi.go.th/TH/home/
) โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อหลายหน่วยงาน และการบริการผ่านระบบออนไลน์ SINGLE WINDOW Visa and Work Permit System (https://swe-expert.boi.go.th/SW-WEB/main.php
)
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ BOI เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรต่างชาติที่ได้รับอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน รวมแล้วกว่า 56,000 คน ประกอบด้วยประเภทวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานภายใต้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน มีผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงาน ภายใต้โครงการส่งเสริมการลงทุน จำนวนประมาณ 50,000 คน ประเภท LTR Visa รวมทั้งสิ้นกว่า 4,000 คน จากสหรัฐอเมริกา 791 คน รัสเซีย 479 คน สหราชอาณาจักร 332 คน จีน 277 คน เยอรมัน 236 คน ญี่ปุ่น 207 คน และฝรั่งเศส 198 คน ประเภท Smart Visa และกลุ่ม Startup รวมทั้งสิ้น 2,170 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเยอรมนี
นอกจากนี้ สำหรับวีซ่าพำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) เป็นมาตรการของรัฐบาล ที่มุ่งดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่มเข้าสู่ประเทศไทย ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ,ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย ,ผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง และผู้เกษียณอายุ รวมถึงผู้ติดตาม สามารถพำนักในประเทศไทยได้ 10 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เดินทางเข้า/ออกประเทศ และได้รับอนุญาตให้ทำงาน โดยจะลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เหลือร้อยละ 17 และยังได้รับการผ่อนปรนระยะเวลาการรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จากปกติทุก 90 วัน เปลี่ยนเป็นปีละ 1 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติวีซ่าดังกล่าวให้แก่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำระดับโลกที่มีการลงทุนหรือตั้งสำนักงานในประเทศไทยหลายแห่ง และครม.ได้เพิ่มการตรวจตราประเภทใหม่ หรือ Destination Thailand Visa (DTV) โดยเป็นมาตรการสำหรับชาวต่างชาติที่มีทักษะและทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล เช่น remote worker หรือ digital nomad ที่ประสงค์จะพำนักในประเทศไทยเพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อเป็นทางเลือกในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพให้เข้ามาทำงานในไทยได้มากขึ้น
นายชัย ย้ำว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการดึงดูดการลงทุน เพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันของไทย เชื่อมั่นว่าผลจากการปรับปรุงและแก้ไขมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดชาวต่างชาติ ให้เข้ามาทำงานในระยะยาว ซึ่งกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมทันสมัย อุตสาหกรรมอนาคต อุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย