xs
xsm
sm
md
lg

ทส.- มท.ลงนามบันทึกข้อตกลงบูรณาการแก้ไขปัญหาไฟป่า สัตว์ป่า และพัฒนาสาธารณูปโภคให้ประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นประธานและลงนามเป็นพยาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการเพื่อการส่งเสริม การสนับสนุน และการประสานงานในการดำเนินงาน ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมลงนาม ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุมถนอม เปรมรัศมี ชั้น 4 อาคารสหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ จำกัด

ด้วยปัจจุบันที่มีสถานการณ์มลพิษทางอากาศและปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปัญหาสัตว์ป่าที่สร้างความเดือดให้แก่ประชาชน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการมุ่งหวังพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและการส่งเสริมอาชีพหรือคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งกรณีเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐ ที่นำโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้ง 2 หน่วยงานจึงได้มีความตกลงร่วมกัน จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการเพื่อการส่งเสริม การสนับสนุน และการประสานงานในการดำเนินงานของทั้ง 2 หน่วยงานขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ได้แก่

1. การแก้ไขปัญหาไฟป่า ทั้ง 2 หน่วยงาน ตกลงร่วมมือกันส่งเสริม สนับสนุน และประสานงาน ด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครอง ดูแลรักษา หรือบำรุงอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และเพื่อนำไปสู่การมีอากาศที่สะอาดเพื่อประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันทำแผนงานหรือโครงการในการพัฒนาท้องถิ่นเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมไฟป่า จัดให้มีระบบแจ้งเตือน และการตรวจตราเพื่อป้องกันการเผาป่า จัดตั้งหมู่และอาสาสมัครในการป้องกันและควบคุมไฟป่า จัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ และสิ่งอื่นที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมไฟป่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถปฏิบัติงานด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่า เฉพาะในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ตลอดจนการดำเนินการด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อป้องกันภัยพิบัติอันเป็นสาธารณะซึ่งเกิดจากไฟป่า

2. การแก้ปัญหาสัตว์ป่าสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ซึ่งสัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าอยู่ในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นทั้ง 2 หน่วยงาน จะร่วมมือกันดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าที่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในพื้นที่นอกเขตป่าอนุรักษ์ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครอง การบำบัดเยียวยา การป้องกันหรือแก้ไขภัยอันตรายแก่ประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถปฏิบัติงานด้านการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าคุ้มครองที่สร้างความเดือนร้อนแก่ประชาชนภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ โดยสามารถเก็บ ดัก จับ ไล่ ต้อน ล่อ เคลื่อนย้าย หรืออื่นๆ กับสัตว์ป่าคุ้มครองเมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉิน เพื่อป้องกันอันตรายแก่บุคคลหรือชุมชน โดยการดำเนินการกับสัตว์ป่าต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ อาทิ สัตว์ป่าอาจอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีความรู้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสัตว์ป่าและผู้เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ

3. การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและการพัฒนาส่งเสริมอาชีพหรือคุณภาพชีวิตของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ทั้ง 2 หน่วยงาน จะดำเนินงานส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานในการดำเนินงานเพื่อทำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

4. การส่งเสริมอาชีพหรือคุณภาพชีวิตของบุคคลในชุมชนท้องถิ่นที่เก็บหาหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ เพื่อลดการพึ่งพิงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ทั้ง 2 หน่วยงาน ตกลงร่วมมือกันส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานในการดำเนินกิจกรรมด้านดังกล่าว เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนในท้องถิ่นให้เป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน

ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับดังกล่าว มีระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายลงนามเป็นต้นไป โดยสามารถขยายระยะเวลาความร่วมมือได้ ด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย