xs
xsm
sm
md
lg

พบการลุกจ้ารุนแรงที่สุดในวัฏจักรสุริยะ บริเวณจุดบนดวงอาทิตย์ AR3664

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ระบุว่า เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้พบเห็นแสงออโรจำนวนมาก สืบเนื่องมาจากพายุสุริยะที่รุนแรง ซึ่งต้นกำเนิดของพายุนั้น มาจากจุดบนดวงอาทิตย์ AR3664 ซึ่งเป็นจุดบนดวงอาทิตย์ขนาดใหญ่ และล่าสุดบริเวณดังกล่าวบนดวงอาทิตย์ได้เกิดการลุกจ้าที่เรียกได้ว่า รุนแรงที่สุดในวัฏจักรสุริยะครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม การลุกจ้านี้ไม่ได้ส่งผลให้เกิดแสงออโรราแบบอลังการอีกครั้งแต่อย่างใด

จุดบนดวงอาทิตย์ AR3664 (AR ย่อมาจาก Active Region) เกิดการปะทุมาหลายวันแล้ว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 (ตามเวลาประเทศไทย) ได้เกิดการลุกจ้าในระดับ X5.8 ตามมาด้วยการลุกจ้าครั้งใหญ่ 3 ครั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ระดับ X1.7, X1.3 และ X8.8 ซึ่งครั้งหลังสุดเป็นการลุกจ้าครั้งที่รุนแรงที่สุดในวัฏจักรสุริยะ (Solar cycle) ครั้งนี้

การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ (Solar flare) เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบนดวงอาทิตย์ที่ปะทุปลดปล่อยรังสีหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าครั้งใหญ่จากพื้นผิวบริเวณที่มีจุดบนดวงอาทิตย์ ซึ่งแบ่งประเภท ตั้งชื่อตามตัวอักษร เป็นระดับ A (อ่อนสุด), B, C, M และ X (รุนแรงสุด) โดยตัวเลข 1 ถึง 10 ข้างหลังตัวอักษรบอกประเภทบ่งชี้ถึงความรุนแรงเช่นกัน เช่น การลุกจ้าระดับ X1 จะเบากว่าระดับ X9

ศูนย์พยากรณ์สภาพอวกาศขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) กล่าวเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า จุดบนดวงอาทิตย์ AR3664 ได้ลุกจ้าขึ้นในช่วงรังสีเอ็กซ์ในขณะที่ดวงอาทิตย์หันจุดดังกล่าวไปทางขอบทางทิศตะวันตกของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นการลุกจ้าระดับ X8.8 ซึ่งนับเป็นการลุกจ้าที่รุนแรงที่สุดในวัฏจักรสุริยะรอบนี้

การลุกจ้าที่มีความรุนแรงถึงระดับ X8.8 ยังทำให้หลายคนคาดหวังว่าอาจเกิดแสงออโรราในบริเวณละติจูดที่ต่ำกว่าปกติแบบที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่าน แต่นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าการลุกจ้าครั้งนี้ไม่น่าจะทำให้เกิดแสงออโรราในบริเวณละติจูดที่ต่ำกว่าปกติ โดยในคำประกาศจากศูนย์พยากรณ์สภาพอวกาศของ NOAA กล่าวว่า “การพ่นมวลโคโรนา (CME) ที่เกิดขึ้นร่วมกับการลุกจ้าครั้งนี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทบทางสนามแม่เหล็กต่อโลกมากนัก”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการลุกจ้ารุนแรงบนดวงอาทิตย์ สิ่งที่ตามมาคือความเป็นไปได้ที่จะเกิด “การดับหายของสัญญาณคลื่นวิทยุ” (Radio blackout) บนโลกฝั่งที่ได้รับแสงอาทิตย์ ซึ่งเว็บไซต์ SpaceWeather.com รายงานว่า จุดบนดวงอาทิตย์ AR3664 อาจเชื่อมโยงกับการดับหายของสัญญาณคลื่นวิทยุที่ความถี่ 20 เมกะเฮิรตซ์ ที่เกิดขึ้นที่ออสเตรเลียและแถบเอเชียตะวันออก

เมื่อดวงอาทิตย์หมุนรอบตัวเองหันจุดบนดวงอาทิตย์ไปทางขอบฝั่งตะวันตก (ในมุมมองจากโลก) จะเป็นจังหวะที่เชื่อมต่อกันทางแม่เหล็กระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก ซึ่ง “ลมสุริยะ” หรือกระแสอนุภาคที่มีประจุจากดวงอาทิตย์ จะถูกเร่งจนมีอัตราเร็วสูง และหมุนวนออกมาในวิถีโค้ง เรียกว่า “Parker spiral”

วิถี Parker spiral ซึ่งเป็นวิถีโค้งวนออกมาจากดวงอาทิตย์ไปยังห้วงอวกาศรอบนอก (รวมถึงโลก) เป็นผลจากสนามแม่เหล็กระหว่างดาวเคราะห์ (Interplanetary magnetic field : IMF) ที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์ (ผ่านลมสุริยะ) เหนี่ยวนำให้เกิดสนามแม่เหล็กที่ซับซ้อนในห้วงอวกาศรอบ ๆ แล้วเมื่อดวงอาทิตย์หมุนรอบตัวเองไปด้วย กระแสลมสุริยะจะเกิดการหมุนวนตามดวงอาทิตย์ที่หมุนรอบตัวเองไปพร้อมกับการกระจายตัวสู่อวกาศ จนมีรูปแบบการแผ่ออกมาเป็นโครงสร้างรูป spiral (คล้ายรูปขดก้นหอย) และเหนี่ยวนำให้สนามแม่เหล็กระหว่างดาวเคราะห์มีการหมุนวนในแบบ spiral ตามไปด้วย

เมื่ออนุภาคมีประจุในลมสุริยะเดินทางมาปะทะกับสนามแม่เหล็กโลก อนุภาคเหล่านี้จะหมุนวนเข้ามายังบริเวณขั้วแม่เหล็กของโลก (ซึ่งใกล้กับบริเวณขั้วโลก) จนเกิดอันตรกิริยากับบรรยากาศโลกในพื้นที่แถบขั้วโลก และเกิดผลกระทบต่อการส่งสัญญาณคลื่นวิทยุช่วงความยาวคลื่นสั้น รวมถึงการติดต่อสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุของเครื่องบินที่บินผ่านแถบขั้วโลก