xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกแป้งมันไตรมาสแรกขยายตัวดีแม้มูลค่าส่งออกหดตัว 16.39%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 (มกราคม – มีนาคม) พบว่ามีมูลค่าการส่งออกรวม 33,167.38 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 16.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเกิดจากปริมาณการส่งออกมันเส้นลดลงเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบ มีมูลค่ารวม 18,116.19 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 49.12 แป้งมันสำปะหลังแปรรูปมีมูลค่ารวม 8,578.13 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.99 ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก ดังนี้ มันเส้น 5,930.36 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 67.90 มันสำปะหลังอัดเม็ด 76.33 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 76.21 และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอื่นๆ 466.00 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 48.00 (ที่มา: คิดค้า.com)

ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ภาพรวมการส่งออกสินค้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ของโลก ในช่วงต้นปี ไทยยังคงครองส่วนแบ่งตลาดโลกเป็นอันดับ 1 โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 18.70 ของมูลค่าการส่งออกของทั้งโลก รองจากไทย ได้แก่ เวียดนาม ลาว สหรัฐอเมริกา และ จีน โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10.19, 9.37, 5.28 และ 4.10 ตามลำดับ

ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดไปตลาดจีนถึงร้อยละ 48.00 ของมูลค่าการส่งออกจากไทยไปโลก และไทยเป็นแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับหนึ่งของจีน (ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 48.87 ของมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของจีน) ส่วนตลาดส่งออกที่สำคัญอื่น ๆ ของไทย ได้แก่ อินโดนีเซีย (ร้อยละ 12.82 ของมูลค่าการส่งออกของไทยไปโลก) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 9.99) ไต้หวัน (ร้อยละ 5.44) และมาเลเซีย (ร้อยละ 3.73)

สำหรับผลผลิตปี 2567 ได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ตุลาคม 2566 ไปจนถึงกันยายน 2567 โดยมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 3,096 กิโลกรัม/ไร่ (ลดลงร้อยละ 6.27 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) และคาดว่าตลอดปี 2567 จะมีผลผลิต 26.88 ล้านตัน (ลดลงร้อยละ 12.21 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) (ที่มา: กรมการค้าภายใน) เนื่องจากต้องเผชิญกับปัญหาโรคศัตรูพืช เช่น โรคใบด่าง โรคพุ่มแจ้ ภาวะแล้ง ขาดแคลนน้ำ ทำให้มันสำปะหลังในหลายพื้นที่ยืนต้นตาย ทั้งนี้ ผลผลิตปี 2567 ได้ทยอยออกสู่ตลาดไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ของผลผลิตในภาพรวมปีนี้

ทั้งนี้ แป้งมันสำปะหลังใช้เป็นวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ยา กระดาษ สิ่งทอ กาว หรือเอทานอล นอกจากนี้ แป้งมันสำปะหลังยังเป็นแป้งที่ปราศจากกลูเตนตามธรรมชาติ จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพ ซึ่งวันนี้กลายเป็นประเด็นหลักที่ผู้คนให้ความสนใจ จุดเด่นนี้จึงช่วยเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางการตลาดให้กับแป้งมันสำปะหลัง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร ขณะเดียวกัน มันสำปะหลังเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ทนความแห้งแล้ง ทำให้มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในด้านการรักษาความมั่นคงทางอาหาร สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่หลายประเทศทั่วโลกตระหนักถึงวิกฤติความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น ดังนั้น หากรัฐบาลเร่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ที่ทนโรคและให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น พร้อมกับส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังที่หลากหลายด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ก็จะสามารถช่วยยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทยที่มีจำนวนกว่าเจ็ดแสนครัวเรือนได้แน่นอน

สำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการ สามารถดำเนินการตามแนวปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยั่งยืน เพื่อช่วยลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ความสำคัญกับการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย เพื่อให้มีวัตถุดิบป้อนเข้าสู่กระบวนการแปรรูปได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งใช้ประโยชน์จากข้อมูลสภาพภูมิอากาศ การพยากรณ์อากาศ และเทคโนโลยีด้านการเกษตรขั้นสูง เช่น โดรน เซ็นเซอร์ และภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อประกอบการตัดสินใจเพาะปลูก การบริหารจัดการน้ำ การจัดการศัตรูพืช และการเก็บเกี่ยว ตลอดจนใช้เครื่องมือในการจัดการความเสี่ยงและการประกันภัย อาทิ การประกันพืชผล และการกระจายความหลากหลายของพันธุ์พืชที่ปลูก เพื่อลดความสูญเสียจากภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน