นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี เจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมกับจังหวัดลพบุรี เทศบาลเมืองลพบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจับลิงในตัวเมืองลพบุรี จำนวน 27 ตัว เพื่อนำเข้ากรง ณ สถานอนุบาลลิงลพบุรี (สวนลิงโพธิ์เก้าต้น) เป็นการทดสอบระบบการดูแลความปลอดภัยและการจัดการสวัสดิภาพลิง โดยมีนายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยนายจำเริญ สละชีพ นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี ร่วมสังเกตุการณ์และติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด
สำหรับการจับลิงในครั้งนี้ เป็นการจับลิงซึ่งอาศัยอยู่บริเวณโรงแรมเอเชีย ลพบุรี เพื่อปล่อยเข้ากรงทดสอบระบบความปลอดภัยของกรง โดยจะนำปล่อยกรงที่ 3 ก่อน ซึ่งเป็นกรงที่อยู่ในสุด จากทั้งหมด 3 กรง และจะทำการปล่อยเข้ากรงในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. จากนั้นจะมีการติดตามลิงที่ปล่อยเป็นระยะ ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนดำเนินการจับลิงเพิ่มเติมอีกครั้ง ลิงทั้งหมดที่จับได้ก่อนปล่อยเข้ากรง จะผ่านการตรวจสุขภาพทุกตัว และคัดเลือกตัวที่ทำหมันแล้วเป็นหลัก ส่วนลิงที่ยังไม่ได้ทำหมัน จะดำเนินการทำหมัน พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนประวัติทุกตัว ก่อนนำเข้ากรงต่อไป
โดยการนำลิงเข้ากรงจำนวน 27 ตัว ที่สถานอนุบาลลิงลพบุรี (สวนลิงโพธิ์เก้าต้น) ในครั้งนี้ เป็นการทดสอบระบบการดูแล ทดสอบความมั่นคงแข็งแรงของกรงที่จัดเตรียมไว้ สำหรับกรงดังกล่าว ได้รับการออกแบบมาจากนักวิชาการอย่างเหมาะสม มีพื้นที่กว้างขวาง มีทั้งส่วนที่อยู่อาศัย ส่วนให้อาหาร และส่วนสำหรับออกกำลังกาย เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมตามธรรมชาติ สำหรับสถานอนุบาลลิงลพบุรี (สวนลิงโพธิ์เก้าต้น) ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง จ.ลพบุรี มีกรง 3 กรง รองรับลิงได้ประมาณกรงละ 300 ตัว ภายในกรงมีแหล่งน้ำ ต้นไม้ และที่ปีนป่าย รวมถึงระบบที่สามารถจัดการเรื่องความสะอาด เพื่อให้ลิงได้ใช้ชีวิตใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ภายหลังจากทดสอบระบบการดูแลและกรงอนุบาลลิงโพธิ์เก้าต้นแล้ว กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะร่วมกับจังหวัดลพบุรี ดำเนินการจับลิงเพิ่มเติม เพื่อนำไปปล่อยยังกรงแห่งนี้ต่อไป
ทั้งนี้ การจับลิงลพบุรีเพื่อนำไปยังสถานอนุบาลลิงลพบุรี (สวนลิงโพธิ์เก้าต้น) เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาลิงรบกวนประชาชนในพื้นที่จังหวัดลพบุรี โดยกรมอุทยานฯ บูรณาการร่วมกับจังหวัดลพบุรี มุ่งหวังที่จะจัดการโครงสร้างประชากรลิงป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งคนและลิง ซึ่งสามารถนำไปเป็นต้นแบบอีกแห่งหนึ่ง ในการจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤตลิงสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป