xs
xsm
sm
md
lg

อุตุฯ ชี้การเริ่มต้นฤดูฝนเริ่มมีสัญญาณหลัง 17 พ.ค. ย้ำเฝ้าระวังฝนตกหนัก 20-24 พ.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอุตุนิยมวิทยาอัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน ทุกๆ 24 ชั่วโมง (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น. วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925 hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 15-24 พฤษภาคม 2567 init. 2024051412 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) (วิเคราะห์ตามผลของแบบจำลองฯ) : ทั่วทุกภาคของไทย สภาพอากาศยังแปรปรวน เริ่มมีฝน/ฝนฟ้าคะนอง กระจายเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สม่ำเสมอ ส่วนมากฝนเกิดขึ้นในช่วงบ่ายถึงค่ำ อากาศยังร้อนทางด้านภาคเหนือ การเริ่มต้นฤดูฝน เริ่มมีสัญญาณหลังวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ลมเริ่มเปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ (พัดจากทะเลอันดามัน) การกระจายของฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอันดามัน บางพื้นที่ก็เริ่มมีฝนตกแล้ว แต่บางพื้นที่ก็ยังรอฝน ฝนระยะนี้ยังตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรต้องเตรียมการ ในระยะนี้ยังต้องระวังพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า ส่วนภาคใต้ ยังมีฝนต่อเนื่องทั้ง 2 ฝั่ง หลังวันที่ 17 พฤษภาคม ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ต้องระวังฝนตกหนัก จากอิทธิพลของลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุม

ส่วนในช่วงวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 ต้องติดตามหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อตัวในทะเลอันดามัน ซึ่งจะทำให้ลมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคเหนือ ภาคกลาง (รวมกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล) ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนัก ต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนคลื่นลมจะมีกำลังแรงขึ้น (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนถ่ายฤดูกาล ซึ่งทำให้สภาวะทางอุตุนิยมวิทยามีความแปรปรวน ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)

ด้านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) และจากดาวเทียมอีกหลายดวง เมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2567 ไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 134 จุด ข้อมูลจากดาวเทียมยังระบุอีกว่าจุดความร้อนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่พบในพื้นที่เกษตร 53 จุด ตามด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 36 จุด เขต ส.ป.ก.17 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 17 จุด ป่าอนุรักษ์ 9 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 2 จุด จังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนมากที่สุด คือ น่าน 17 จุด และ เชียงราย 17 จุด

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านยังพบจุดความร้อนอย่างต่อเนื่อง สูงสุดอยู่ที่ประเทศเมียนมา 911 จุด ตามด้วย ลาว 254 จุด ไทย 134 จุด เวียดนาม 72 จุด มาเลเซีย 44 จุด และกัมพูชา 22 จุด