xs
xsm
sm
md
lg

สนค.เผยค่าใช้จ่ายคนไทยเดือน เม.ย.แตะ 18,187 บาท ค่ากิน-ค่ารถหนักสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายของครัวเรือน เดือนเมษายน 2567 พบว่า อยู่ที่ 18,187 บาท แยกเป็นค่าใช้จ่ายหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 58.50% และหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ 41.50%

ทั้งนี้ จำแนกเป็นรายการที่ใช้จ่ายต่อเดือน หมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ พบว่า ค่าใช้จ่ายมากสุดในรอบเดือนนี้ คือค่าโดยสารสาธารณะ-ค่าน้ำมัน-ค่ามือถือ รวม 4,267 บาท หรือสัดส่วน 23.46% ของค่าใช้จ่ายกลุ่มนี้ ส่วนที่เหลือ อาทิ ค่าเช่าบ้าน ค่าไฟ ค่าแก๊สหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน รวม 4,004 บาท ค่าแพทย์ ค่ายา รวม 986 บาท ค่าหนังสือ ค่าสันทนาการ ค่าการกุศลต่างๆ รวม 765 บาท ค่าเสื้อผ้า-เครื่องนุ่งห่ม รวม 375 บาท ค่าบุหรี่-เหล้า-เบียร์ 244 บาท

สำหรับหมวดอาหาร ค่าใช้จ่ายมากสุดอันดับแรก คือ อาหารบริโภคในบ้าน 1,651 บาท ตามด้วย เนื้อสัตว์ 1,633 บาท อาหารบริโภคนอกบ้าน 1,260 บาท ผัก-ผลไม้ 1,061 บาท ไข่-นม 403 บาท เป็นต้น

นายพูนพงษ์ เปิดเผยด้วยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนเมษายน 2567 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.9 จากระดับ 54.1 ในเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งค่าดัชนียังเกินระดับ 50 ถือว่าคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นและติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ทั้งนี้ ค่าดัชนีเดือนเมษายนปีนี้ ปรับลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่ 44.5 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ 56.8 จากเดือนมีนาคมอยู่ที่ 46.1 และ 59.5 ตามลำดับ

สำหรับปัจจัยทำให้ความเชื่อมั่นลดลง สาเหตุมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แม้ว่าจะได้รับปัจจัยหนุนมาจากเทศกาลสงกรานต์ และ ความกังวลต่อภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น อาทิ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการศึกษาเนื่องจากใกล้เปิดภาคเรียน

อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรสำคัญยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีหลายรายการ จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนียังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่น ทั้งนี้ สัดส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค มากสุด คือ ด้านเศรษฐกิจไทย คิดเป็นสัดส่วน 48.73% ตามด้วยด้านมาตรการของภาครัฐ 13.59% ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 9.51% ด้านเศรษฐกิจโลก 8.75% ด้านสังคม/ความมั่นคง 7.16% ด้านราคาสินค้าเกษตร 5.17% ด้านการเมือง 3.93% ด้านภัยพิบัติ/โรคระบาด 1.59% ด้านอื่นๆ 1.57%

เมื่อจำแนกรายภาค พบว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลงจากระดับ 58.9 มาอยู่ที่ 55.0 ภาคกลาง ลดลง จากระดับ 54.1 มาอยู่ที่ 52.2 ภาคเหนือ ลดลง จากระดับ 51.9 มาอยู่ที่ 49.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลง จากระดับ 55.4 มาอยู่ที่ 53.5 ภาคใต้ลดลง จากระดับ 50.4 มาอยู่ที่ 49.6

หากจำแนกรายอาชีพ พบว่า เกษตรกร ลดลง จากระดับ 53.4 มาอยู่ที่ 52.8 พนักงานเอกชน ลดลง จากระดับ 53.4 มาอยู่ที่ 50.7 ผู้ประกอบการ ลดลง จากระดับ 56.0 มาอยู่ที่53.4 รับจ้างอิสระ ลดลง จากระดับ 51.3 มาอยู่ที่ 48.3 พนักงานของรัฐ ลดลง จากระดับ 58.7 มาอยู่ที่ 55.9 นักศึกษา ลดลง จากระดับ 53.3 มาอยู่ที่ 52.5 ไม่ได้ทำงานหรือรับบำนาญ ปลดลง จากระดับ 53.8 มาอยู่ที่ 48.6 ยกเว้นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เพิ่มขึ้นจากระดับ 48.9 เป็น 49.6

ทั้งนี้ เมื่อเช็กย้อนหลังค่าใช้จ่ายต่อเดือนของคนไทย พบว่ามีการขยับขึ้นต่อเนื่อง แต่เป็นการขยับในอัตราไม่สูง เพราะมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉลี่ยปีก่อน อยู่ที่กว่า 1.7 หมื่นบาท และขยับขึ้นแตะ 1.8 หมื่นบาทในปลายปี และยืนระดับ 1.8 หมื่นบาทตั้งแต่ต้นปี 2567