xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแนะรัฐรองรับผู้ลี้ภัยให้เป็นระบบ หลังเพิ่มจนมีความรุนแรงใน ปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จากกรณีการสู้รบระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยง KNLA สหภาพกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังประชาชน PDF กับทหารเมียนมาร์ บริเวณจังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ของไทย รุนแรงต่อเนื่องจนผลให้มีผู้อพยพลี้ภัยเข้ามาสู่ประเทศไทย และไทยได้อำนวยความสะดวกส่งกลับโดยสมัครใจหมดแล้วนั้น

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ผู้ลี้ภัยที่กลับไป เป็นเพียงจำนวนที่อยู่ในที่ควบคุม แต่ผู้ลี้ภัยจริงที่อยู่นอกพื้นที่ควบคุมมีอีกจำนวนมาก เนื่องจากสถานการณ์ด้านตะวันตกเปลี่ยนไปไม่เหมือนเมื่อก่อน จากเดิมอพยพมาไปกี่วันก็กลับไปได้เอง เพราะการสู้รบมีเพียงประปราย ชั่วคราวระยะสั้นๆ แล้วกลับสู่ความสงบสุข แต่ปัจจุบันเป็นการสู้รบที่ยืดเยื้อยาวนาน และรุนแรงมากขึ้นมาก และไม่มีแนวโน้มที่จะสงบสุข หรือมีสันติภาพในเร็ววัน ทำให้มีผู้ลี้ภัยที่ลี้ภัยถาวรไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ เนื่องด้วยไม่สามารถทำกินได้ ระบบการศึกษาล่ม ไม่เปิดการเรียนการสอน พื้นที่อยู่อาศัยมีอันตรายจากการสู้รบ ฯ อพยพมาสู่ประเทศไทยจำนวนมากนับแสนคน ผู้อพยพเหล่านี้ทราบดีว่าไม่สามารถกลับไปสู่ถิ่นฐานเดิมของตนเองได้ จึงอพยพมาทั้งครอบครัว ขนทรัพย์สินทั้งหมดมาด้วย ด้วยหวังจะมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย เมื่อประเทศไทยไม่เปิดให้คนเหล่านี้เข้าสู่ค่ายผู้ลี้ภัย หรือที่พักพิงที่ปลอดภัยได้ คนเหล่านี้จึงไปอาศัยอยู่ตามบ้านญาติ โรงงาน หรือที่ต่างๆ นอกพื้นที่ควบคุมและค่ายผู้ลี้ภัย โดยบางส่วนเข้ามาสู่เมืองชั้นใน เช่น สมุทรสาคร ทำให้ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาไทย มาประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้นในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่แม่สอด พบว่าเศรษฐกิจที่ควรจะซบเซาตามเศรษฐกิจประเทศ กลับเฟื่องฟู มีคนมาซื้อบ้านเรือนและที่ดินเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ยิ่งทำให้มีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาด้วย

ทั้งนี้ แนะนำว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับผู้ลี้ภัยที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น โดยการจัดทำทะเบียนคนเหล่านี้ให้ครบถ้วน เปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เข้าถึงระบบทะเบียนราษฎร์ของกลุ่มที่ไม่มีสัญชาติไทย มีนโยบายและมาตรการรองรับคนเหล่านี้ระหว่างอยู่ในประเทศไทยและไม่สามารถกลับประเทศต้นทาง หรือไปประเทศที่สามได้