‘เลขาฯ กกต.’ ชี้ โทษการแนะนำตัว และโทษการทุจริตในการเลือก สว. เช่น ขอคะแนน-แลกคะแนนกัน (แม้ยังไม่ซื้อเสียง) ตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป ศาลฏีกาวินิจฉัยฉัยไว้แล้วว่า เป็นการแนะนำตัวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต บอก การจัดตั้ง-การฮั้ว อยู่ในลักษณะความผิดนี้ด้วย
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “สว.รัฐธรรมนูญออกแบบไว้อย่างไร...
ทำไมต้องแนะนำตัว ห้ามหาเสียง มันต่างกันอย่างไร...
โทษการแนะนำตัว กับโทษทุจริตในการเลือก... การให้ความรู้ เชิญชวนคนสมัครทำได้ไหม...
ทำไม กกต. ออกระเบียบแนะนำตัวแบบนี้...
1.สว. ตามรัฐธรรมนูญมีลักษณะอย่างไร
1) วุฒิสภา "ต้องต่างจาก" สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา "เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ" แต่ สภาผู้แทนราษฎร "เป็นสภาของนักการเมือง"
2) สมาชิกวุฒิสภา (สว.)"ต้องเป็นกลางทางการเมือง ตาม ม.114 ของรัฐธรรมนูญ แต่สภาผู้แทนราษฎร(สส.) "เป็นสภาของนักการเมือง"
3) สว. เป็น "สภาผู้ทรงคุณวุฒิ" จากกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ แต่ สส. เป็น "สภาของสมาชิกพรรคการเมือง"
4) สว. มีที่มาจาก "การเลือก"กันเองของผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ สส. มาจาก "การเลือกตั้ง" ของประชาชน
5) สว. ต้องเป็น "ผู้ทรงคุณวุฒิ คือ อายุ 40 ปีขึ้นไป มีประสบการณ์ในสาขาอาชีพ และเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งต่างจาก สส.โดยสิ้นเชิง ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ไม่ต้องมีประสบการณ์ในสาขาอาชีพ และ เป็นนักการเมืองเต็มตัว
2. การแนะนำตัว(เลือก) และการหาเสียง(เลือกตั้ง) ด้วยเหตุข้างต้นที่รัฐธรรมนูญออกแบบให้ สว.มีลักษณะดังกล่าว กม.จึงกำหนดให้ผู้สมัคร สว. ทำได้แค่แนะนำตัว นั้นหมายความว่าห้ามหาเสียงโดยปริยาย เพราะเชื่อว่าผู้ทรงคุณวุฒิด้วยกันเองที่สมัครทุกคน มี ความดี เด่น ดัง ในสาขาอาชีพของตัวเองเป็นที่ประจักษ์และทราบกันดีในวงการนั้นดีอยู่แล้ว และด้วยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจะมี "วิจารณญานในการเลือก"ที่ถูกต้องได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีการจัดตั้ง ฮั้วกันในการเลือก
1) การแนะนำตัว คือ การบอกว่าตัวเองเป็นใคร มีประสบการณ์ในกลุ่มสาขาอาชีพนั้นอย่างไร แค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้วยกันเองมีข้อมูลในการเลือกในการเลือกกันเองแล้ว ไม่ว่าจะเลือกในกลุ่มหรือเลือกไขว้ก็ตาม
2) การหาเสียง คือ การหา หรือขอคะแนนนิยม โดยการโฆษณา การเสนอนโยบาย หรือการแสดงวิสัยทัศน์ ของพรรคการเมืองและผู้สมัคร
ดังนั้นเมื่อพูดถึงที่มาของ สว. ต้องรู้ให้จริงว่ามาจาก "การเลือก/การแนะนำตัว" อย่าไปสับสนกับที่มา สส.ที่มาจาก "การเลือกตั้ง/การหาเสียง" นั้นแสดงว่ารู้ไม่จริง หรือแกล้งไม่รู้เพื่อให้ประชาชนสับสนหรือประโยชน์ทางการเมือง
3. โทษการแนะนำตัว และโทษการทุจริตในการเลือก
1) โทษของการแนะนำตัว เช่น การขอคะแนนกัน การแลกคะแนนกัน(ยังไม่ซื้อเสียง) ตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป ศาลฏีกาได้วินิจฉัยฉัยใว้แล้วว่าเป็นการแนะนำตัวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามคำพิพากษาศาลฏีกา ที่ 5606/2562 และ ที่ 5217/2562 พิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง(ใบดำ/ตลอดชีวิต) นั้นหมายความว่า การจัดตั้ง การฮั้ว (ยังไม่ได้ใช้เงินซื้อเสียง)ก็อยู่ในลักษณะความผิดนี้ด้วย
2) โทษของการทุจริตในการเลือก เช่น การซื้อเสียง รวมทั้งโทษอื่น เช่น จ้างให้คนลงสมัคร รับจ้างสมัคร สมัครโดยเอกสารเท็จ รับรองการสมัคร กลุ่มความผิดนี้ มีทั้ง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง) จำคุก และเสียเงินค่าปรับด้วย
ดังนั้น ให้พึงระวังให้ดี แม้ไม่ได้กระทำผิดตามข้อ 2)เรื่องการทุจริตในการเลือก แต่แนะนำตัวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มีความผิดโดนใบดำได้
4. การให้ความรู้ การเชิญชวนลงสมัครทำได้หรือไม่
การให้ความรู้ การเชิญชวนลงสมัครโดยทั่วไปแล้วหยุดแค่ให้ความรู้ หรือเชิญชวน ลักษณะนี้โดยตัวมันเองทำได้อยู่แล้ว แต่อาจเป็นเหตุให้เป็นความผิดอื่นได้ เมื่อได้ดำเนินการต่อเนื่องจากการให้ความรู้ หรือการเชิญชวน อาทิ
1) การตั้งกลุ่ม เพื่อติดต่อกันไม่ว่าในช่องทางใดๆ เช่น การตั้งกลุ่มไลน์ และมีการแลกคะแนนกัน ขอคะแนนกัน การฮั้วกัน เป็นต้น
2) การสร้างกลุ่มแต่มีการแนะนำตัว ไม่เป็นไปวิธีแนะนำตัวตามที่ระเบียบกำหนด เช่น การเสนอนโยบาย เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นกับข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆ ไป
5. ทำไม กกต. ออกระเบียบแบบนี้
กกต.ออกระเบียบว่าด้วยการแนะนำตัว บนหลักการ 3 ประการ
1) เพื่อให้ได้สมาชิกวุฒิสภา ตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบใว้ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
2) เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิเดินมาสมัครด้วยตัวเอง หากมีมีการจัดตั้ง การบริหารจัดการอยู่เบื้องหลัง การจัดตั้งกลุ่มทำไห้ได้ สว. ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นกลาง และเอาเปรียบคนตั้งใจดี
3) หวังดี คุ้มครองผู้สมัคร ส่วนคนที่คิดจะไปเข้ากลุ่มจะได้คิดว่า กลุ่มนั้นจะทำผิดวิธีแนะนำตัวหรือไม่
อยากเป็น สว. ต้องแนะนำตัวให้ถูก ไม่ยากเลย และเป็นธรรมกับทุกคน อย่าคิดเอาเปรียบคนอื่น
ทุกความเห็น เรารับฟังมาตลอด ไม่ว่าความเห็นนั้นจะไม่อยู่บนหลักกฎหมาย หรือมีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ แต่สุดท้าย เราก็ต้องทำตามกฎหมาย ไม่อาจทำตามความต้องการของคนกลุ่มใด กลุ่มหนึ่งได้...”