xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเชื่อมั่นข้อเสนอ"ทรอยก้าพลัส" ในกรอบอาเซียน ทำให้เมียนมาเกิดสันติภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ว่า จากการประเมินสถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูง ยังมีการสู้รบ เมืองเมียวดี ยังเป็นพื้นที่สำคัญ แต่แนวโน้มสถานการณ์ปัจจุบันเช้านี้ (24 เม.ย.67) ดีขึ้นค่อนข้างมาก แต่ฝ่ายไทยยังติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะมีความไม่แน่นอนสูงและเปลี่ยนได้ตลอด หน่วยงานต่างๆ ของไทยมีแผนรองรับสถานการณ์ได้ทุกรูปแบบ ขอให้ประชาชนในพื้นที่สบายใจและไว้วางใจ หน่วยงานภาครัฐดูแลความปลอดภัยอย่างสูงสุด และเชื่อว่าในเร็วๆ นี้จะมีการเปิดการค้าชายแดนผ่านสะพานมิตรไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 เนื่องจากเป็นช่องทางการค้าชายแดนที่สำคัญที่สุดในแถบนั้น ส่วนสาเหตุที่ปิดเพราะมีความเสี่ยง เจ้าหน้าที่เมียนมาไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่ได้ การลงพื้นที่เมื่อวาน (23 เม.ย.67) ของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และประธานกรรมการเฉพาะกิจเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ได้หารือกับหอการค้าและเอกชน อยากให้การค้าชายแดนกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาภายในของเมียนมา ไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ยังคงย้ำจุดยืน ยึดมั่นอธิปไตย ดูแลความปลอดภัยของคนไทย ไม่ให้ใช้ดินแดนดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่างประเทศ และยึดมั่นหลักมนุษยธรรม ไทยได้เสนอไปที่ลาว ในฐานะประธานอาเซียน เพื่อให้มีการประชุมไตรภาคี หรือทรอยก้าพลัส เพื่อเปิดกว้างให้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่สนใจเข้าร่วมการหารือเพื่อหาแนวทางสร้างสันติภาพในเมียนมา เช่น ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของลาว ส่วนสถานที่และช่วงเวลายังไม่ได้ข้อสรุป อาจจะเป็นประเทศไทยก็ได้ ซึ่งจะมีการชี้แจงทันทีที่มีความคืบหน้า

อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเกิดความไม่สงบกระทบทุกคน แต่จะกระทบไทยมากที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกัน ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะเมียนมา ไทยเรามีจุดยืนในการเป็นประเทศผู้ที่ต้องการนำสันติสุขให้เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้ง สะท้อนว่าไทยพร้อมที่จะช่วยให้เกิดการพูดจากับฝ่ายต่างๆ ในเมียนมา หากเมียนมาต้องการ ไทยก็พร้อมเข้าไป ซึ่งการเสนอการประชุมทรอยก้าพลัสในกรอบอาเซียนจะทำให้เกิดสันติภาพในอนุภูมิภาคในกรอบอาเซียน

ส่วนการดูแลผู้หนีภัยการสู้รบเข้ามาในไทยตามแนวปฏิบัติด้านมนุษยธรรมตามหลักสากล ขณะนี้มีคนที่สมัครใจเดินทางกลับค่อนข้างมาก ล่าสุด ตัวเลขอยู่ที่ 650 คน คาดว่าจะเดินทางกลับเพิ่มมากขึ้น