รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า ความทรมานคือ หลังหายป่วยช่วงแรก หลายคนจะมีอาการผิดปกติต่อเนื่อง
ไอ ไอ ไอ และไอ ไออยู่นั่นแหละ ไม่หยุดสักที หลายสัปดาห์หรือนานกว่านั้น
บางคนมีอาการอื่น เช่น ภูมิแพ้กำเริบ คัดจมูก น้ำมูกย้อย หายใจไม่สะดวก ที่อาจรำคาญมากคือ ทำให้นอนไม่ได้
บางคนตื้อ คิดไรไม่ออก สมองตื้อ มีปัญหาความคิดความจำ ยิ่งหากมีงานที่ต้องใช้สมองและสมาธิเยอะ ยิ่งกระทบ เข็นงานไม่ออกอย่างเคย
บางคนเหนื่อยล้าต่อเนื่อง พ่วงด้วยใจสั่น อะไรที่เคยทำได้กลับรู้สึกสมรรถนะแย่ลง
บ้างก็มีผลกระทบโดยตรงต่อเรื่องการนอน ทั้งนอนไม่หลับ คุณภาพไม่ดี หรือนอนมากขึ้น
เรื่องดมกลิ่นเพี้ยน ไม่ได้กลิ่น หรือรับรสเพี้ยน รับรสชาติบางรสมากขึ้นก็มีเช่นกัน ต่อเนื่องเป็นหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนๆ
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกรณีศึกษามากมาย ที่เน้นย้ำให้เราเห็นความสำคัญในการป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันครับ
เพราะ post-COVID conditions หรือ Long COVID นั้นเกิดได้ทุกเพศทุกวัย และเกิดได้ไม่ว่าจะติดเชื้อแบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการมากก็ตาม
อย่างไรก็ตาม หญิงเสี่ยงกว่าชาย ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก เด็กโตเสี่ยงกว่าเด็กเล็ก และอาการป่วยมากเสี่ยงกว่าอาการป่วยน้อย
สุดท้ายแล้ว...ไม่เป็นย่อมดีกว่า เพราะยังไม่มีหนทางรักษามาตรฐานครับ