ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เปิดเผยแนวทางการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบด้านเมียนมา กรณีการปะทะระหว่างทหารเมียนมา กับกองกำลังชนกลุ่มน้อย/กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา อย่างต่อเนื่อง บริเวณ บ.เยปู่ อ.เมียวดี ในพื้นที่ตอนในฝั่งเมียนมา ห่างจากชายแดนไทยระยะทางประมาณ 2-3 กิโลเมตร ใกล้พื้นที่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ด้านตรงข้าม บ.วังตะเคียนใต้ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก จนส่งผลให้ด่านพรมแดน สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ต้องปิดทำการชั่วคราว
สำหรับการปฏิบัติภารกิจที่สำคัญของกองทัพบก โดยศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก การดูแลด้านมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ที่เดินทางเข้ามายังฝั่งไทย ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว จังหวัดตาก จำนวน 6 พื้นที่ จำนวน 3,027 คน คือ ท่าทรายรุจิรา สำนักสงฆ์วังข่า บ้านวังตะเคียนใต้ ท่าข้ามที่ 33 และ ท่าข้ามที่ 35 บ.วังตะเคียน ม.7 อ.แม่สอด และ บ.หนองหลวง อ.อุ้มผาง จ.ตาก
การเพิ่มเติมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ปฏิบัติภารกิจตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ตลอด 24 ชั่วโมง ตามแผนเผชิญเหตุของกองกำลังป้องกันชายแดน โดยเฉพาะในพื้นที่หน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลัง นเรศวร ด้านจังหวัดตาก แนวทางการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบด้านเมียนมา
ส่วนแนวทางการปฏิบัติกรณีประชาชน ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) หรือผู้ที่มีการบาดเจ็บ เข้ามายังฝั่งไทย ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก, ฉก.ราชมนู กกล.นเรศวร และ อ.แม่สอด ได้เตรียมพื้นที่รองรับ ผภสม. ชาวต่างชาติ และราษฎรไทย ในขั้นต้นไว้ คือ ในพื้นที่รองรับชาวต่างชาติ ณ โรงแรม ภูอินทร์ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก พื้นที่รองรับราษฎรไทย ณ, สนามกีฬา 5 อำเภอชายแดน และ ม.ราชภัฏกำแพงเพชร (สาขาแม่สอด) ต.แม่ปะ และโรงเรียนแม่ตาว ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ขณะพื้นที่รองรับ ผภสม. ปัจจุบัน จัดพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จำนวน 5 พื้นที่ คือ ท่าทรายรุจิรา, สำนักสงฆ์วังข่า, บ.วังตะเคียนใต้, ท่าข้ามที่ 33 และ ท่าข้ามที่ 35 บ.วังตะเคียน
สำหรับผู้ที่บาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือฝ่ายใด หากถูกส่งตัวมาเข้ารับการรักษาพยาบาล ยังฝั่งไทย ทางการไทยต้องให้การรักษาพยาบาลตามหลักสิทธิมนุษยชนตามปกติ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา แม้ว่าจะทำให้ทางการไทย ต้องสูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก ในการรักษาพยาบาล และเป็นการเพิ่มภาระบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ได้มีการเตรียมการสนับสนุนเพิ่มเติมไว้แล้ว
กรณีทหารเมียนมาเข้ามายังฝั่งไทย แนวทางการปฏิบัติ ลำดับแรก กกล.ป้องกันชายแดน จะดำเนินการปลดอาวุธทหารเมียนมาที่ข้ามแดนเข้ามา จากนั้นจะดำเนินการตรวจสอบ คัดกรอง ตามหลักสากล และแนวทางที่ กองทัพบก ยึดถือและปฏิบัติมา หลังจากนั้น จะนำทหารเมียนมาเข้าพื้นที่รองรับที่จัดเตรียมไว้ โดยจะให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมพื้นฐานในขั้นต้น
ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว จะดำเนินการส่งกลับ ทหารเมียนมา (โดยความสมัครใจ) ให้กับทางการเมียนมาต่อไป สำหรับพื้นที่รองรับที่จัดเตรียมไว้ แบ่งเป็น 2 พื้นที่ ดังนี้ ทหารเมียนมา ประเภทนายทหารสัญญาบัตร จัดพื้นที่รองรับไว้ ณ ฉก.ราชมนู กกล.นเรศวร ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก และทหารเมียนมา ประเภทนายทหารประทวน จัดพื้นที่รองรับไว้ ที่ร้อย.ตชด.346 กกล.นเรศวร ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก
หากเป็นกรณีทหารเมียนมาสู้รบปะทะกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย/กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา และล้ำเข้ามายังฝั่งไทย เช่น มีเครื่องบินรบ เฮลิคอปเตอร์ อากาศยานไร้คนขับ ทิ้งระเบิด หรือมีกระสุนตกเข้ามายังฝั่งไทย แนวทางการปฏิบัติ ทาง ฉก.ราชมนู กกล.นเรศวร ได้วางกำลังตลอดแนวด้านตรงข้าม พื้นที่การสู้รบ ซึ่งสามารถส่งสัญญาณ หรือป้องปราม ป้องกันการปฏิบัติการดังกล่าว จากเบาไปหาหนักได้ เช่น การยิงกระสุนควันเพื่อแจ้งเตือน เป็นต้น
โดยสถานการณ์ปัจจุบัน มีเพียงกระสุนปืนขนาดเล็ก (ปลย. เช่น AK – 47) ตกมายังฝั่งไทย ทำให้ทรัพย์สินของราษฎรไทยได้รับความเสียหายเล็กน้อย เช่น บ้านเรือน และรถยนต์ แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต โดยทางการไทยจะมีมาตรการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นตามความเหมาะสมต่อไป
สำหรับการประเมินสถานการณ์ แนวโน้ม และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับไทยกรณีที่กองกำลังชนกลุ่มน้อยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา สามารถยึดครองพื้นที่ ได้แบบเบ็ดเสร็จ ไทยอาจจะต้องปิดด่านพรมแดนฯ หลายแห่ง เนื่องจากฝั่งเมียนมาไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายปฏิบัติงานประจำอยู่ เช่น ตำรวจ ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านต่างๆ ต่อไปได้
ขณะที่ผลกระทบในอนาคต อาจทำให้มีผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายชาวเมียนมาลักลอบเข้ามายังฝั่งไทยเพิ่มมากขึ้น และอาจหลบหนีเข้าไปทำงานในพื้นที่ชั้นในของไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านสาธารณสุข เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กองทัพบก และหน่วยงานในพื้นที่ ได้ร่วมกันเตรียมการและซักซ้อมการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ก็ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ด้วยการเฝ้าตรวจและวางกำลังป้องกันตามแนวชายแดน ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งได้ประเมินสถานการณ์และได้ประสานการปฏิบัติร่วมกัน ระหว่าง กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบก กับหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาอธิปไตย และปกป้องความปลอดภัยของพี่น้องคนไทย โดยถือเป็นความสำคัญสูงสุด และขอให้ประชาชนชาวไทยมั่นใจว่า กองทัพจะไม่ยอมให้มีการละเมิดอธิปไตยของไทยโดยเด็ดขาด