นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ตามกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมและการตรวจสอบกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หากกรรมการ ป.ป.ช. กระทำความผิดเอง ให้ร้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้โดยตรง และศาลฎีกาฯ ก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวโดยตรง
ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เปิดช่องให้มีการตรวจสอบได้ทุกองค์กร แต่จะมีระบุไว้ชัดเจนว่า องค์กรใดตรวจสอบอย่างไร แต่เนื่องจาก ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบองค์กรอื่น ดังนั้น กฎหมายจึงระบุไว้ว่า เมื่อมีเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ก็ให้ร้องโดยตรงไปถึงศาลฎีกาได้ทันที
สำหรับกระบวนการในการพิจารณา เมื่อเรื่องร้องเรียน สำนักงานศาลฎีกาจะตรวจสอบว่าคำร้องดังกล่าว มีมูลเพียงพอที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ถ้าหากรับไว้พิจารณาก็เข้าสู่กระบวนการไต่สวนต่อไป
ดังนั้น ในเอกสารของ พล.ตงอ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ระบุว่า ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องของกรรมการ ป.ป.ช. มายังประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมนั้น ยืนยันว่า ต้องส่งไปให้หน่วยงานที่อยู่เหนือ ป.ป.ช. นั่นคือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งนี้ หากจะให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ป.ป.ช. ต้องมีประชาชนเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 20,000 รายชื่อ จะร้องเองโดยตรงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระบวนการสรรหากรรม ป.ป.ช. ยังไม่มีการตรวจสอบ เพราะในกระบวนการสรรหามีคณะกรรมการ 7 คน เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว ต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยอีกขั้นตอนหนึ่ง