xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.เผยเหตุแอมโมเนียรั่วที่บางละมุง พร้อมดูแลผู้รับผลกระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์และการดูแลผู้รับผลกระทบจากเหตุก๊าซแอมโมเนียรั่ว จากเหตุระเบิดในโรงงานน้ำแข็ง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อคืนวานนี้ (17 เม.ย.) ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบหมายให้ดูแลดำเนินการ 4 ด้าน คือ

1 ด้านการรักษาพยาบาล ได้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ชลบุรี ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข บูรณาการร่วมกับพื้นที่ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและท้องถิ่น ซึ่งการรักษาพยาบาล จะมี รพ.ชลบุรี และ รพ.บางละมุง เป็น รพ.หลัก ร่วมกับ รพ.เอกชนหลายแห่ง ซึ่งจากการรวบรวมผู้ป่วยที่ส่งต่อไปรักษา แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ อาการรุนแรงสีแดง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรืออยู่ในไอซียู ที่ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด, อาการปานกลางสีเหลือง ซึ่งอาการไม่มาก แต่ต้องสังเกตอาการ เพราะอาจเกิดอาการแย่ลง ต้องดูแลรักษาเพิ่มเติม และกลุ่มอาการเล็กน้อย ส่วนใหญ่มึนศีรษะ วิงเวียน มีระคายเคืองแสบตา ถ้าแพทย์ดูว่าไม่มีอะไรผิดปกติก็ให้กลับบ้านได้ แต่อาจมีบางรายที่รับคำปรึกษาแล้วกลับบ้าน จึงไม่ได้บันทึกไว้

2.การดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน เบื้องต้นคนรับผลกระทบมากที่สุดคือ คนในโรงงาน สังเกตคนอาการหนักในไอซียู ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นคนทำงานในโรงงานใกล้ชิด ถัดมาคือมีบ้านพักในโรงงานและชุมชนใกล้เคียง เบื้องต้น ให้มีการเฝ้าระวังในพื้นที่ 1 กิโลเมตร รอบโรงงาน เฝ้าระวังสภาพอากาศร่วมหลายหน่วยงาน เบื้องต้นพบว่า การปนเปื้อนของสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ยังเป็นการตรวจเบื้องต้น เพราะยังมีหลายปัจจัยที่มีผลกระทบ เช่น สภาพลม สภาพอากาศต่างๆ ต้องติดตามต่อไป เบื้องต้นไม่ต้องกังวลมากนัก จะมีการติดตามให้ความรู้ประชาชนต่อเนื่อง ส่วนน้ำบริโภคจะนำไปตรวจดูว่ามีผลกระทบสามารถบริโภคได้หรือไม่ โดย สสจ.ชลบุรี จะแจ้งทราบต่อไป

3.สุขภาพจิตผู้รับผลกระทบ สธ. ได้รับมอบหมายให้มาติดตามอาการ และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติ โดยเฉพาะผลกระทบจิตใจของญาติผู้ป่วย พบคนหนึ่งใส่ท่อช่วยหายใจ อาการค่อนข้างกังวล ก็จะให้ทีมดูแลสุขภาพจิตดูแลต่อไป และ 4.สื่อสารประชาชน ในพื้นที่ใกล้เคียง อาการผลกระทบแอมโมเนีย ว่าแสบจมูก แสบตา วงเสียน รู้สึกไม่สบาย หอบเหนื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ดูแลรักษาต่อไป ส่วนการเกิดเหตุรั่ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลโรงงานจะดูแลใกล้ชิด