xs
xsm
sm
md
lg

ศปถ.สรุปผลดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุ 2,044 ครั้ง ตาย 287 เจ็บ 2,060

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานแถลงผลการปฏิบัติงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 17 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 224 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 224 คน ผู้เสียชีวิต 28 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 45.98 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 18.75 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 12.50 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.82 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 82.14 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 42.41 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 29.46 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 17.01 – 18.00 น. ร้อยละ 8.04 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 17.06 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,762 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,371 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ แพร่ (จังหวัดละ 11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ แพร่ (12 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (3 ราย) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (11 – 17 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,044 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,060 คน ผู้เสียชีวิต รวม 287 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (82 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ แพร่ (80 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (17 ราย)

นายอนุทิน กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่จำนวนของการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย ซึ่งสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และตัดหน้ากระชั้นชิด รวมถึงจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดเกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดบูรณาการขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่วิเคราะห์ข้อมูลและถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุสูง พร้อมทั้งประเมินผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุตามมาตรการที่กำหนด โดยเฉพาะมาตรการที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้จำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลดลง เพื่อให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนดำเนินการรวบรวมและเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนและคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะได้นำมากำหนดเป็นแนวทางในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศในระยะยาวต่อไป