xs
xsm
sm
md
lg

สดร.เผยกล้อง SOHO พบดาวหางดวงที่ 5,000

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ระบุว่า ท่ามกลางแสงแดดที่แผดเผาจากดวงอาทิตย์อันเร่าร้อน ขณะทุกคนกำลังมองหาร่มเพื่อหลบแดดอยู่นั้น ทราบหรือไม่ว่า บนท้องฟ้ายังมีผู้ที่ยืนหยัดท้าทายสุริยเทพอยู่ เขามีนามว่า “SOHO” กล้องโทรทรรศน์อวกาศสำหรับสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ SOHO หรือ Solar and Heliospheric Observatory เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศเพื่อสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1995 จากความร่วมมือกันระหว่างองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การนาซา (NASA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีวงโคจรอยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ณ จุดลากรานจ์ L1 ห่างจากโลก 1.5 ล้านกิโลเมตร

และเมื่อไม่นานมานี้กล้อง SOHO ได้ตรวจพบวัตถุที่เป็นก้อนน้ำแข็งเล็ก ๆ กำลังโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ คาดว่าเป็นดาวหางคาบสั้น ที่มีคาบการโคจรประมาณ 5.3 ปี นับเป็นดาวหางดวงที่ 5,000 พอดี จากที่เคยได้ค้นพบดาวหางมาทั้งหมด

SOHO มีอุปกรณ์ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันแสงสว่างจากบริเวณใจกลางดวงอาทิตย์ และเหลือพื้นที่บริเวณขอบไว้สำหรับศึกษาชั้นบรรยากาศโคโรนาอันเบาบางและสังเกตได้ยาก รวมไปถึงสังเกตลักษณะการเกิดลมสุริยะด้วย จากความสามารถนี้ทำให้ SOHO สามารถสังเกตวัตถุอื่น ๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงดวงอาทิตย์ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะดาวหางที่กำลัง “slingshot” หรือกำลังเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ก่อนที่จะถูกเหวี่ยงตัวออกมา ถือเป็นช่วงที่ดาวหางเคลื่อนที่เข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด นักดาราศาสตร์เรียกดาวหางช่วงนี้ว่า "sungrazer" หรือ “ผู้สำรวจดวงอาทิตย์”

ดาวหางที่ค้นพบครั้งนี้เป็นก้อนน้ำแข็งเล็ก ๆ ถูกพบเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 2023 ขณะโคจรผ่านเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ คาดการณ์กันว่าน่าจะเป็นชิ้นส่วนที่แตกออกมาจากดาวหาง 96P/Machholz ซึ่งเป็นดาวหางขนาดประมาณ 6 กิโลเมตร มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 5.3 ปี โดยล่าสุดได้โคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2023 และด้วยวงโคจรที่เฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก อาจทำให้ดาวหางแตกตัวออกมา กลายเป็นดาวหางรุ่นลูกหรือไม่ก็รุ่นหลานที่มีขนาดเล็กและยังคงโคจรรอบดวงอาทิตย์ต่อไป

การค้นพบดาวหางดวงที่ 5,000 ของ SOHO เป็นฝีมือของ Hanjie Tan นักศึกษาปริญญาเอกด้านดาราศาสตร์จากกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งเขาได้เข้าร่วมโครงการ Sungrazer Project เพื่อตามหาร่องรอยของดาวหางกับทาง NASA มาตั้งแต่ขณะเขาอายุได้ 13 ปี ครั้งนี้เขาได้ศึกษาเส้นทางโคจรของดาวหาง 96P/Machholz ที่เฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี ค.ศ. 2023 แล้วค้นพบร่องรอยของฝุ่นขนาดใหญ่ที่ทอดยาวไปทางด้านหน้าและด้านหลังตามแนววงโคจรและค้นพบดาวหางดวงใหม่ในที่สุด จากข้อมูลบ่งชี้ว่าดาวหาง 96P/Machholz ยังคงปล่อยชิ้นส่วนของตัวเองออกมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นดาวหางดวงใหม่ต่อไปอีกมากมาย

ข้อมูลการค้นพบดาวหางทั้งหมด 5,000 ดวงของ SOHO นี้ ไม่ได้เป็นเพียงสถิติเชิงตัวเลขหรือข้อพิสูจน์การค้นพบดาวหางของนักดาราศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นชุดข้อมูลที่มีค่าที่นักดาราศาสตร์สามารถนำไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อค้นหาแนวโน้มวงโคจรของดาวหางดวงอื่น รวมถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของวัตถุที่อยู่ในบริเวณนี้ต่อไป

นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ส่งผลต่อรูปร่างและลักษณะหางของดาวหางโดยตรง นั่นหมายความว่าการศึกษาดาวหางที่เฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์เช่นนี้ จะสามารถช่วยให้นักดาราศาสตร์ศึกษาสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ที่มองไม่เห็นและสังเกตอิทธิพลของมันผ่านการศึกษาจากดาวหางเหล่านี้ได