นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 เมษายนนี้ คาดว่า กนง. จะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.50% ต่อปี เนื่องจาก กนง. มีมุมมองว่าหากตัดเรื่องราคาพลังงานออกจากที่รัฐบาลมีมาตรการอุ้มไว้นั้น ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ใกล้เคียง 1% ซึ่งเข้ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีเป้าหมายให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 1-3% อีกทั้ง กนง. มีมุมมองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นจากนโยบายการคลังจะมีการใช้จ่ายเงินเป็นปกติ และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นจากปีที่แล้วขยายตัวที่ 1.9% ต่ำกว่า 2% และปี 2567 ธปท. คาดว่าจะขยายตัว 2.7% ดังนั้น จึงยังไม่มีไม่มีเหตุผลมากพอที่ ธปท. จะลดอัตราดอกเบี้ย
ขณะเดียวกัน สัญญาณของค่าเงินบาทอยู่ที่ 36.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจากที่ดอลลาร์แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าสหรัฐ อาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนหลุดกรอบ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยจะห่างจากสหรัฐมากขึ้น
ทั้งนี้ หากมีการลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนเมษายนและทำให้เงินบาทอ่อนจะเป็นแรงกดดันให้กองทุนน้ำมันมีหนี้มากขึ้น เพราะทิศทางน้ำมันได้เคลื่อนตัวจาก 70 เป็น 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และจากต้นปีเคลื่อนตัวจาก 80 เป็น 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้แรงกดดันของราคาพลังงานจะสูงขึ้น หากค่าเงินบาทอ่อน จะส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้น คงเป็นจุดที่ทำให้ ธปท. ยังไม่เห็นมุมมองการลดดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม คาดว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยลงหลังจากประเทศอื่นๆ ลดดอกเบี้ย โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะเห็น กนง.ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดอกเบี้ยโลก โดยคาดว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งหลังปี 2567