xs
xsm
sm
md
lg

นาซาวางแผนส่งนักบินอวกาศไปลงสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง ก.ย.2026

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เพจสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA
โพสต์ระบุว่า เดือนกันยายน 2026 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NASA วางแผนส่งนักบินอวกาศไปลงสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง ภายใต้ภารกิจ ‘อาร์ทีมิส 3’ นับเป็นการส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์ครั้งแรก นับตั้งแต่ภารกิจ ‘อพอลโล 17’ เมื่อปี 1972

ภารกิจก้าวกระโดดครั้งถัดไปของมนุษยชาติ จะเกิดขึ้นได้จากทั้งองค์ความรู้ที่สานต่อมาจากภารกิจในอดีต เช่นเดียวกับนวัตกรรมยุคใหม่ และความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกับบริษัทเอกชน หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและความยั่งยืนในภารกิจสู่ดวงดาว

หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญสำหรับภารกิจส่งมนุษย์ไปทำงานในอวกาศ คือการพัฒนาชุดอวกาศสำหรับสวมใส่ทำงานภายนอกยานอวกาศ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้มนุษย์ดำรงชีวิตได้ โดยสำหรับโครงการอาร์ทีมิส NASA ได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัท Axiom Space เพื่อพัฒนาชุดอวกาศชื่อ Axiom Extravehicular Mobility Unit หรือ AxEMU สำหรับเริ่มใช้งานบนพื้นผิวดวงจันทร์กับลูกเรือของภารกิจอาร์ทีมิส 3

ชุดอวกาศที่ถูกสวมใส่โดยนักบินอวกาศสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ Intravehicular Suit หรือชุดปรับความดัน มักสวมใส่โดยลูกเรือระหว่างโดยสารขึ้นจากฐานปล่อย หรือกลับมาลงจอดบนโลก มีหน้าที่ให้อากาศหายใจแก่ผู้สวมใส่ในระหว่างเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ยานอวกาศสูญเสียความดัน มีก๊าซรั่ว หรือมีควันไฟเกิดขึ้น ซึ่งในโครงการอาร์ทีมิส จะเป็นชุดสีส้ม มีชื่อว่า Orion Crew Survival System ที่พัฒนาต่อยอดมาจากชุดในสมัยโครงการกระสวยอวกาศ

ชุดอวกาศอีกแบบ คือชุด Extravehicular Suit ที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องผู้สวมใส่ระหว่างออกไปปฏิบัติภารกิจภายนอกยานอวกาศ ให้นักบินอวกาศมีอากาศหายใจ เคลื่อนไหวไปมาได้ ในขณะที่ต้องเผชิญกับอุณหภูมิสุดขั้ว รังสีต่าง ๆ และความเสี่ยงเผชิญอันตรายจากเศษวัตถุขนาดเล็กทั้งหลาย ราวกับเป็นยานอวกาศขนาดย่อมสำหรับคนหนึ่งคน โดยชุด AxEMU ที่ถูกพัฒนาสำหรับอาร์ทีมิส 3 จะเป็นชุดอวกาศแบบนี้

ในอดีต นักบินอวกาศสมัยโครงการอพอลโลเคยสวมใส่ชุด A7L ระหว่างลงไปปฏิบัติภารกิจบนพื้นผิวดวงจันทร์ และประสบปัญหาด้านข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวไปมาระหว่างทำงานอยู่บนดวงจันทร์ ความสามารถระหว่างหยิบจับ เคลื่อนย้ายอุปกรณ์ต่าง ๆ บนพื้นผิว ซึ่งข้อมูลจากนักบินอวกาศทั้ง 12 คนที่เคยไปลงเดินบนดวงจันทร์บริวารของโลกแห่งนี้ และประสบการณ์จากชุดอวกาศในสมัยโครงการกระสวยอวกาศ มาจนถึงบนสถานีอวกาศนานาชาติ ได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นชุดอวกาศยุคใหม่

ภายในชุดอวกาศแบบ Extravehicular Suit นักบินอวกาศต้องสวมใส่ชุดที่มีระบบหล่อเย็นด้วยน้ำ เพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิภายในชุดตลอดการทำงานภายนอกยานอวกาศ โดยชุด AxEMU ประกอบด้วย

- ระบบพยุงชีพแบบพกพา ที่เป็นเหมือนกระเป๋าเป้ด้านหลัง มีทั้งออกซิเจน ระบบขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ ถังน้ำ ระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสาร ที่ช่วยให้นักบินอวกาศสามารถทำงานได้ไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง พร้อมกับมีระบบสำรองที่ช่วยพยุงชีพในกรณีฉุกเฉินได้ประมาณ 1 ชั่วโมง

- เกราะลำตัว เป็นส่วนที่มีความแข็งแกร่งของชุดอวกาศ เชื่อมเข้ากับระบบพยุงชีพด้านหลัง และมีระบบควบคุมชุดอวกาศติดตั้งอยู่ที่ด้านหน้าสุด เพื่อให้นักบินอวกาศสามารถปรับค่าต่าง ๆ ระหว่างอยู่นอกยานได้

- ระบบสื่อสารที่พัฒนาใหม่ ทำให้นักบินอวกาศไม่ต้องสวมใส่หมวก ’Snoopy Cap’ เพื่อพูดคุยกับทีมภารกิจบนโลก

- กล้องถ่ายภาพแบบติดตั้งเหนือส่วนหมวก สามารถส่งสัญญาณกลับโลกด้วยความละเอียดสูง เช่นเดียวกับแสงไฟช่วยในการมองเห็น โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างมืดในบางพื้นที่ของขั้วใต้ดวงจันทร์ เป้าหมายการลงจอดของภารกิจอาร์ทีมิส 3

สำหรับชุดอวกาศรุ่นดังกล่าว กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยบริษัท Axiom Space ที่จับมือกับแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง Prada เพื่อออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นกับชุด AxEMU สำหรับสวมใส่ในภารกิจนี้ ซึ่ง NASA ระบุว่าจะเป็นภารกิจที่พานักบินอวกาศหญิงคนแรกเดินทางไปลงดวงจันทร์ ในเดือนกันยายน 2026 อีกด้วย

นอกจากจะเป็นหมุดหมายสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ภารกิจสำรวจอวกาศ ทั้งการส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง พร้อมกับเป็นรากฐานของภารกิจมุ่งหน้าไปดาวอังคาร การพัฒนาชุดอวกาศภายใต้ความร่วมมือของ NASA และภาคเอกชน ยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตามอง ในด้านการเสริมสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศอย่างยั่งยืน ที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้มีส่วนร่วมผลักดันและเสริมสร้างผ่านอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง