xs
xsm
sm
md
lg

“อ.เจษฎา”ย้ำตำแหน่งอธิการบดีจุฬาฯ มาจากการสรรหา ไม่ใช่การเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ระบุว่า (เน้นอีกครั้ง) "ตำแหน่งอธิการบดีจุฬาฯ มาจากการสรรหา ไม่ใช่การเลือกตั้ง" ครับ

พอครบ 4 ปีวาระ ของอธิการบดีจุฬาฯ ที่ต้องสรรหาท่านใหม่มาดำรงตำแหน่ง ก็จะมีเรื่องดราม่า เกิดขึ้นทุกที ซึ่งก็น่าจะเกิดจากความไม่เข้าใจในกระบวนการสรรหา ว่ามีขั้นตอนอย่างไรกันแน่ ?

ดังเช่น กรณีการจัด "ลงคะแนนหยั่งเสียง" ของสภาคณาจารย์จุฬาฯ นั้น เป็นเพียงแค่การรับฟังความคิดเห็นของประชาคม เพื่อเป็นทางให้สภาคณาจารย์ (ซึ่งเป็นเพียงองค์กรหนึ่งของจุฬาฯ ) ร่วมเสนอ "3 ชื่อ แบบไม่เรียงลำดับ" ให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดี พิจารณาต่อไป .. ไม่ได้เอา "ผลคะแนน" นี้ มาเรียงลำดับแต่อย่างไร

อย่างล่าสุด รอบนี้ มีการเขียนข่าวโดยสำนักข่าวหนึ่ง ทำนองว่า "การสรรหาอธิการบดีจุฬาฯ มีเสียงวิพากวิจารณ์ เนื่องจากแคนดิเดตที่ได้รับคะแนนความนิยมเป็นอันดับที่ 1 ถูกคว่ำโดยกรรมการสรรหาอธิการบดี ฟันดาบสวนกระแสสังคม ไปสนับสนุนแคนดิเดตที่ได้รับคะแนนความนิยมเป็นอันดับที่ 3 เข้ารับตำแหน่งอธิการบดีจุฬาฯ" !?

ซึ่งนี้แสดงถึงความไม่เข้าใจในกระบวนการสรรหาอธิการบดีของจุฬาฯ ซึ่งมีกระบวนการเป็นไปตาม พรบ. และระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของจุฬาฯ วางแนวทางไว้

โดยคณะกรรมการสรรหาฯ จะต้องทำจดหมายขอความเห็นไปตามหน่วยงานต่างๆ ของจุฬาฯ ตั้งแต่คณะ สถาบันวิจัย หน่วยงานบริหาร หรือแม้กระทั่งสมาคมศิษย์เก่า และกรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมแล้วกว่า 80 ซอง เพื่อให้เสนอชื่อผู้ที่หน่วงงานนั้นๆ เห็นสมควรได้รับการเข้าสรรหาเป็นอธิการบดี

แล้วจากนั้นคณะกรรมการสรรหาก็จะทำการพิจารณารายชื่อที่ได้รับมาจากทั้ง 80 กว่าซองนั้น เพื่อเชิญท่านที่มีแนวโน้มเป็นที่ยอมรับสูง มาแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการฯ ก่อนจะลงมติตัดสินใจต่อไป ในการนำเสนอชื่อเพียง 1 ท่านต่อสภามหาวิทยาลัย ให้การรับรองในที่สุด

จะเห็นว่า แต่ละองค์กร/หน่วยงาน จะต้องพิจารณากันเองภายใน ว่าจะใช้กลไกในการเสนอชื่อ เช่น จะจัดการหยั่งเสียงภายในคณะก็ได้ หรือจะลงมติในคณะกรรมการบริหารคณะ ก็ได้ แล้วแต่เหมาะสม .. โดยคณะเล็ก คณะใหญ่ มีสิทธิเสนอชื่อเท่ากัน ก็ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน (ไม่งั้น คณะใหญ่ๆ คนเป็นพัน ก็ชนะคณะเล็กๆ คนหลักร้อย)

ซึ่งทาง สภาคณาจารย์จุฬาฯ ได้เลือกใข้วิธีจัดการรับฟังความเห็นของประชาคมจุฬาฯ โดยจัดหยั่งเสียงไป 2 รอบ ทำให้สามารถพิจารณาเสนอรายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอสูงสุดไป 3 ท่าน โดยไม่มีการระบุคะแนน หรืออันดับจากการหยั่งเสียง ให้กับกรรมการสรรหาฯ

#สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ท่านที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากการหยั่งเสียงของสภาคณาจารย์นั้น ไม่นับว่าเป็น "แคนดิเดตอันดับ 1" ตามรายงานข่าวอ้าง แต่อย่างไร .. แต่จะเป็นเพียงชื่อหนึ่งที่ถูกเสนอชื่อให้คณะกรรมการสรรหาฯ พิจารณาเท่านั้น (ซึ่งกรรมการฯ ต้องดูไปพร้อมกับชื่อที่อยู่ใน 80 กว่าซองด้วย)

จริงๆ กลไกการสรรหาแบบนี้ ก็ใช้ในระดับของ "คณบดี" แต่ละคณะด้วยครับ ซึ่งมีบ่อยครั้ง ที่ผู้ที่ได้รับการหยั่งเสียงในคณะ ได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องได้เป็นคณบดีจากการสรรหาในที่สุด

ป.ล. และความเป็นจริงแล้ว ผลการสรรหาอธิการบดีจุฬาฯ ที่ออกมาและมีมติจากสภามหาวิทยาลัยจุฬาฯ ไปเมื่อวานนี้ ก็ยังอยู่ใน "3 ชื่อ" ที่สภาคณาจารย์ ส่งไปนั่นแหละครับ ไม่ได้ผิดแปลก-สวนกระแสอะไร อย่างที่ข่าวพูด !!
------
(ข่าว) 27 มี.ค.67 ภายหลังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี พ.ศ. 2567-2571 เพื่อแทน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้

แหล่งข่าวระบุว่า การสรรหาอธิการบดีจุฬาฯครั้งนี้ กลับมีเสียงวิพากวิจารณ์ว่ามีกลิ่นไม่ดีลอยออกมา เนื่องจากแคนดิเดตที่ได้รับคะแนนความนิยมเป็นอันดับที่ 1 มีคะแนนสูงสุดจากการหยั่งเสียงของประชาคมทั้งมหาวิทยาลัย ทิ้งห่างอันดับที่ 2 และ 3 อย่างถล่มทลาย ถูกคว่ำโดยกรรมการสรรหาอธิการบดี ด้วยคะแนนที่ขับเคี่ยวทำให้ประธานสรรหาฯซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒินอกจุฬาฯ ฟันดาบสวนกระแสสังคมไปสนับสนุนแคนดิเดตที่ได้รับคะแนนความนิยมเป็นอันดับที่ 3 เตรียมแต่งตัวเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีจุฬาฯ คนต่อไป