นายธีรเนตร ไชยสุวรรณ ประธานกรรมการบริหารขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีนายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล และคณะ มารับเรื่อง เพื่อขอให้ตรวจสอบการบังคับใช้ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน เพราะ ขปส. ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐ ในด้านที่ดิน ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ได้ออกมาต่อสู้เรียกร้องรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งการชุมนุมครั้งล่าสุดตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ถึง 28 กุมภาพันธ์ รวม 24 วัน ก่อนจะประกาศยุติการชุมนุมภายหลังบรรลุข้อเรียกร้อง เช่น การเดินหน้าจัดการที่ดินแบบชุมชน การผลักดัน การกระจายถือครองที่ดิน ในรูปแบบธนาคารที่ดิน
อีกทั้งก่อนหน้านั้น การชุมนุมสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ช่วงเดือนตุลาคม 2566 และมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 รับทราบผลสรุปการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา ของ ขปส. แต่หลังเสร็จสิ้นการชุมนุม กลับมีหมายเรียกผู้ต้องหาส่งถึงแกนนำพีมูฟ โดยเป็นคดีระหว่าง พ.ต.ท.ชัยธัช เชียงทา รองผู้กำกับ สน.ดุสิต และนายจำนงค์กับพวก รวมถึงตนเอง โดยมีข้อกล่าวหาคือเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม ฝ่าฝืนคำสั่ง ประกาศ 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาล และให้ไปพบพนักงานสืบสวนสอบสวน ในวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งพีมูฟและทีมทนาย ทำหนังสือถึง สน. ขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ (28 มี.ค.) 10.00น. พร้อมยืนยันจะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากเป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ไทยร่วมเป็นภาคี และได้มีการแจ้งดำเนินการชุมนุมในที่สาธารณะอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ระหว่างชุมนุมที่มีแนวโน้มปักหลักชุมนุมนานกว่าเดิม ก็ได้มีการแจ้งขยายระยะเวลาการชุมนุมไปแล้ว และพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวก ปกป้องสิทธิการชุมนุมของประชาชน ไม่ใช่การนำมาบังคับใช้ เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน โดยตลอดระยะเวลาการชุมนุม พีมูฟและรัฐบาลได้ประชุมหารือร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาที่ชัดเจนสมเหตุสมผล จึงได้ยุติการชุมนุม
ทั้งนี้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นๆ ที่จะออกมาชุมนุมเคลื่อนไหว ขอเรียกร้องให้กรรมาธิการตรวจสอบการบังคับใช้ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ว่าละเมิดสิทธิประชาชน และหลักสิทธิมนุษยชนสากลหรือไม่ พร้อมขอให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงหาแนวทางแก้ไข ข้อจำกัด หรือยกเลิก พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวซึ่งไม่ได้เอื้ออำนวย ให้ประชาชน สามารถจัดการชุมนุมได้อย่างสันติ
ด้านนายพงศธร ระบุว่า ช่วงบ่ายวันนี้ (28 มี.ค.) จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือและชี้แจงต่อกรรมาธิการ เพื่อหาข้อสรุปต่อไป