นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ปรบมือดังๆ ให้กับการอภิปรายที่ชัดเจนและมีคุณค่าที่สุดของ สว. 2 ท่านนี้ สว.คำนูณ สิทธิสมาน และ สว. พลเรือเอกพัลลภ ตมิศาสนนท์ เรื่อง การเจรจาแบ่งผลโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน OCA ระหว่างไทย-กัมพูชา ในการอภิปรายตามมาตรา 153 ของสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567
สว.คำนูณ ปูอารมณ์ให้เห็นปัญหาพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ที่มีการขีดเส้นแดนของฝรั่งเศสเป็นตัวกำหนด นับแต่เกิดวิกฤติเหตุการณ์ รศ. 112 จนไทยต้องยอมเสีย พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ และเกาะกง ที่ชื่อไทยว่า เมืองปัจจันตคีรีเขตร์ เมืองคู่ที่อยู่บนเส้นรุ้งเดียวกันกับเมืองประจวบคีรีขันธ์ แต่อยู่คนละฝั่งของอ่าวไทย จน ร. 5 เสียพระทัยและมีพระราชนิพนธ์ที่รู้จักกันดีในชื่อ ขัตติยพันธกรณี
สว.คำนูณ จบลงด้วยการบอกรัฐบาลว่า อย่าได้แยกพักเรื่องเขตแดนแล้วมาเดินหน้าเจรจาผลประโยชน์อย่างเดียว โดยมองว่า MOU. ปี 2544 ที่ทำสมัยรัฐบาลทักษิณนั้น ไทยเสียเปรียบที่มีการลากเส้นเขตแดนผ่ากลางเกาะกูด
สว. พลเรือเอกพัลลภ อธิบายสิ่งที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่ายว่า การแบ่งพรมแดนทางทะเลนั้นมีหลักที่เรียกว่า เส้นมัธยะ (Median line) คือ แบ่งกึ่งกลางระหว่างส่วนที่เป็นดินแดนของ 2 ประเทศ
ดังนั้น หากเกาะกูดเป็นของไทย เกาะกงเป็นของกัมพูชา เส้นแบ่งเขตแดนที่ยอมรับได้ คือ เส้นที่อยู่ในทะเลระหว่างกลางของสองเกาะ
การลากเส้นเขตแดนที่ผ่ากลางเกาะกูดจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และหากพักเรื่องเจรจาเขตแดนไว้ แล้วไปมุ่งแค่เจรจาแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลก่อนตามแนวที่รัฐบาลเศรษฐาพยายามเร่งกระทำ วันนี้ไม่เสียดินแดน แต่วันหน้าอาจเสียดินแดน
ข้อเสนอของ สว.พลเรือเอก พัลลภ คือ หากยกเลิก MOU.44 และใช้อนุสัญญาไหล่ทวีปมาใช้แทน พื้นที่ทับซ้อนจะลดลงมากกว่า 3 ใน 4
“อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์ปิโตรเลียมเฉพาะหน้า จนเสียเขตดินแดน น้ำมันนั้นหมดได้ แต่เขตแดนนั้นถาวร ต้องรักษาไว้ก่อน”
คมครับ
ขึ้นอยู่กับว่า จะฟังข้อแนะนำ หรือ จะเดินตาม MOU ที่ทำไว้สมัยทักษิณ ผู้เป็นมิตรสนิทแนบแน่นกับสมเด็จฮุนเซ็น