xs
xsm
sm
md
lg

“เอ้ สุชัชวีร์”แนะ กทม.ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง เส้นเลือดฝอยใช้งานไม่ได้ผล ชี้ฝนตกทีไรท่วมทุกที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “กทม.ฝนตก น้ำท่วม ทันที เครื่องสูบน้ำ ไม่ทำงาน สูบน้ำย้อนไป ย้อนมา น้ำทะเลหนุน ประตูน้ำปิด ผู้ว่า ต้องคิด เปลี่ยนโครงสร้าง เส้นเลือดฝอย ไม่ได้ผล”

ดร.เอ้ อธิบายเรื่องนี้มาโดยตลอด “กรุงเทพ เปรียบเสมือน แอ่งกระทะ" จะอยู่รอดได้ด้วยการสูบน้ำ เป็นการสู้ฝืนธรรมชาติ คือสูบจากต่ำไปสูง จากซอยขึ้นถนน ถนนขึ้นคลอง คลองสูบขึ้นแม่น้ำเจ้าพระยา (เป็นลำดับขึ้น) ก่อนไหลลงอ่าวไทย ส่วนกำแพงกันตลิ่งนั้น เป็นขอบกระทะของกรุงเทพ จึงสำคัญมาก หากกำแพงรั่ว หรือชำรุด แรงดันมหาศาลจากระดับแม่น้ำเจ้าพระยาที่สูงมาก จะหาทาง ดันทะลักเข้ากรุงเทพ ทุกทิศ ทุกทาง ที่ดันเข้ามาได้ กำแพงกันตลิ่ง แถวเมืองเก่า อย่างสัมพันธวงศ์ ถ.ทรงวาด มีรอยร้าวอยู่มาก น้ำจึงดันเข้ามา ทางแก้อันดับแรก คือ ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ สูบสู้ประทังไปก่อนลดความเดือดร้อน และเร่งซ่อมแซมปะเขื่อนกันตลิ่ง

“ผู้ว่าฯ กทม.” เคยอธิบาย “เส้นเลือดฝอย” ไว้ว่า หลายพื้นที่น้ำไม่ท่วม เชื่อว่าเพราะเส้นเลือดฝอยทะลวงได้ดีขึ้น สังเกตว่าหลายพื้นที่ไม่ได้ลอกท่อระบายน้ำ เมื่อทะลวงท่อก็ดีขึ้นเยอะ

แต่หากว่า “ไม่มีปั๊มปั๊ม หรือไม่มีเทคโนโลยีทันสมัย ไม่มีเซนเซอร์ ไม่เปิดประตูน้ำ ไม่ระบายน้ำ ไม่รอด ชัวร์ !”

กทม.ไม่มีเซนเซอร์วัดระดับน้ำอัตโนมัติ? จากที่ติดตามข้อมูลของสำนักระบายน้ำจากสถานีวัดระดับน้ำทั่วกรุงเทพมีเพียงแค่ร้อยกว่าจุดสถานีวัดน้ำ น่าตกใจอย่างยิ่ง บางพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมสูงตลอดเวลา กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่มีข้อมูลจากสถานีตรวจวัด ในการจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ เพราะเมื่อไม่มีเซนเซอร์ ไม่มีระบบการวัดระดับน้ำอย่างละเอียด ก็เหมือนคนตาบอด แก้ปัญหาไม่ตรงตามสถานการณ์ สูบน้ำก็พลาด การเปิดประตูน้ำก็ผิดช่วงเวลาไปด้วย

กทม.มีเครื่องสูบน้ำเพียงไม่กี่เครื่อง น้อยมาก และสูบย้อนไป ย้อนมา กลับมาท่วมที่เดิมอีก จึงขอแนะนำให้นำเครื่องสูบน้ำ จากพื้นที่ที่ยังปลอดภัย ขอยืมมาระดมสูบน้ำโดยด่วนก่อน และต้องวางแผนการสูบ ไม่ใช่การสูบโยนไป-โยนมา ชาวบ้าน ประชาชนเดือดร้อนเพิ่ม แบบนี้ไม่ไหว

ดังนั้นทางแก้ไขที่สมเหตุสมผลที่สุด คือ ต้องไปสร้างระบบป้องกันน้ำทะเลหนุน ที่ต้นตอ ต้นทาง ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นเรื่องของเมือง และของประเทศ ต้องร่วมกัน เหมือนกับที่สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ได้ทำสำเร็จมาแล้ว

ฝนกำลังมาอีกระลอก ผมแนะนำด้วยความห่วงใย ไม่ทำเดี๋ยวนี้ ก็จะจมต่อไป จากนั้นถนนจะพัง ดินจะทรุด บ้านเรือนจะเสียหาย ไฟฟ้าจะดูด ผลกระทบต่อเนื่องน่ากลัวกว่าที่คิด“ดร.เอ้ กล่าวด้วยความห่วงใย”