นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กรมทางหลวงเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา จำนวน 14 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 ตอนที่ 6 ตอนที่ 17 ตอนที่ 18 ตอนที่ 19 ตอนที่ 20 ตอนที่ 21 ตอนที่ 23 ตอนที่ 24 ตอนที่ 32 และตอนที่ 39 วงเงินรวมประมาณ 1,740 ล้านบาท
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา จำนวน 10 ตอน ดังนี้
1. ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ จากปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2563 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2568 จำนวน 4 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 3 ตอนที่ 6 ตอนที่ 17 และตอนที่ 32
2. ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ จากปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2566 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2568 จำนวน 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 5 ตอนที่ 20 และตอนที่ 24
3. ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ จากปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2567 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2568 จำนวน 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 18 ตอนที่ 19 และตอนที่ 39
นายคารม กล่าวว่า โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา แบ่งเป็นจำนวน 40 ตอน ปัจจุบันมีงานก่อสร้าง 16 ตอน ที่พบปัญหาและจำเป็นต้องแก้ไขรูปแบบการก่อสร้าง ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านวิศวกรรม เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมในการแก้ไข เปลี่ยนแปลงรูปแบบก่อสร้าง และได้ข้อยุติว่า การปรับรูปแบบของโครงการฯ เป็นรูปแบบที่เหมาะสม และถูกต้องตามหลักวิศวกรรมแล้ว
ทั้งนี้ การปรับรูปแบบของโครงการฯ ส่งผลให้ค่าก่อสร้างงานโยธาเพิ่มขึ้นจากค่างานตามสัญญาจากเดิม 59,410 ล้านบาท เป็น 66,165 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจำนวน 6,755 ล้านบาท) ซึ่งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณเฉพาะในส่วนของงานที่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 12 ตอน วงเงิน 4,970 ล้านบาท (คงเหลือที่ต้องขอ ครม. อนุมัติอีก 1,784 ล้านบาท)
พร้อมทั้งให้กรมทางหลวงตรวจสอบงานก่อสร้างในส่วนที่ดำเนินการก่อสร้างไปก่อนการแก้ไขสัญญาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 กรมทางหลวงได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบงานโครงการฯ ในส่วนของงานก่อสร้างที่ได้ดำเนินการก่อสร้างก่อนลงนามในสัญญาแก้ไขดังกล่าว ซึ่งยังไม่มีการจ่ายค่างานในส่วนที่ดำเนินการไปก่อน จำนวน 14 ตอน พบว่ามีงานก่อสร้างบางตอนที่วงเงินลดลง (จากเดิมวงเงินรวม 1,784 ล้านบาท เป็นวงเงินรวม 1,740 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อเสนอในครั้งนี้)
โดยการเพิ่มค่างานของทั้ง 16 ตอน จะทำให้กรอบวงเงินค่างานก่อสร้างของทั้งโครงการฯ รวม 40 ตอน เพิ่มขึ้นจากเดิม 59,410 ล้านบาท เป็น 66,121 ล้านบาท แต่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบวงเงินค่างานก่อสร้าง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 ที่วงเงิน 69,970 ล้านบาท