สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) มีมาตรการในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ก่อนจำหน่าย ซึ่งอาจนำมาสู่กระแสอาหารสกปรก จึงทำการเฝ้าระวังและสืบสวนหาข่าวเรื่อยมา ต่อมาพบว่ามีโรงงานไก่ยอและไส้กรอกอีสานเถื่อนย่านบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีการส่งไก่ยอและไส้กรอกอีสานขายตลาดขนาดใหญ่ เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดบางกะปิ เป็นต้น
เพื่อความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงสืบสวนหาข่าว พบว่าในพื้นที่เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร มีโรงงานลักลอบผลิตไก่ยอและไส้กรอกอีสานเถื่อน โดยลักลอบผลิตไก่ยอและไส้กรอกอีสานจำนวนมากในสถานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ แพ็กบรรจุส่งขายตามตลาดขนาดใหญ่ในพื้นที่ ได้แก่ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดบางกะปิ และบริเวณใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการลงพื้นที่สืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิตไก่ยอและไส้กรอกอีสานดังกล่าว
ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2567 เจ้าหน้าที่ได้ทำการขอหมายค้นต่อศาลอาญามีนบุรีเพื่อเข้าค้นบ้านพักอาศัยที่ดัดแปลงเป็นโรงงานผลิตไก่ยอและไส้กรอกอีสาน ภายในซอยคู้บอน 27 แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร พบนางสาวโช (นามสมมุติ) แสดงตนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ ตรวจยึด ไก่ยอ ไม่ระบุยี่ห้อ ถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 17 ถุง ไก่ยอ ยี่ห้อ KMF ถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 127 ถุง ไส้กรอกอีสาน ยี่ห้อหม่ำแซ่บ ถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 10 ถุง ถุงบรรจุภัณฑ์ยี่ห้อต่างๆ 3 ยี่ห้อ ได้แก่ ยี่ห้อ KMF แม่กระบอก และหม่ำแซ่บ รวม 680 ใบ เนื้อไก่สด จำนวน 450 กิโลกรัม เครื่องบด จำนวน 1 เครื่อง เครื่องตีผสม จำนวน 1 เครื่อง เครื่องยิงไส้กรอก จำนวน 1 เครื่อง เครื่องเป่าลมไส้กรอกให้แห้ง จำนวน 2 เครื่อง เครื่องซิล จำนวน 1 เครื่อง หม้อต้ม จำนวน 3 ใบ แป้งสำเร็จรูป และส่วนผสมต่างๆ ซึ่งเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 15 รายการ รวมตรวจยึดไก่ยอ ไส้กรอกอีสาน และส่วนผสมต่างๆ กว่า 729 กิโลกรัม เครื่องจักร บรรจุภัณฑ์ และส่วนผสมต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตลูกชิ้น รวมกว่า 15 รายการ
นางสาวโช รับสารภาพว่า ผลิตไก่ยอและไส้กรอกอีสาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. และไม่มีเลขสารบบอาหารแต่อย่างใด โดยใช้บ้านพักดัดแปลงเป็นสถานที่ผลิต จากนั้นนำมาแช่ไว้ในถังน้ำแข็งขนาดใหญ่เพื่อรอการจำหน่ายให้กับลูกค้า ซึ่งเนื้อไก่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ตนซื้อมาจากโรงงานแยกชิ้นส่วนไก่แล้วนำมาผลิตเป็นไก่ยอและไส้กรอกอีสานที่ไม่ได้มาตรฐานส่งขายให้ลูกค้าตามตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดบางกะปิ เป็นต้น
จากนั้นจะมีผู้ค้ารายย่อยมารับสินค้าไปกระจายต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไก่ยอและไส้กรอกอีสานวันละประมาณ 100 กิโลกรัม เฉลี่ยเดือนละ 1,600 กิโลกรัม โดยทำมาแล้วประมาณ 4 ปี
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ หาสารบอแรกซ์ ชนิดและปริมาณวัตถุกันเสีย และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน "ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์" ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฐาน "ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง" ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท