นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการหารือร่วมกับนายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนาย JU, Jae-ha ผู้แทน บริษัท Korea Land & Housing Corporation (LH) ถึงความคืบหน้าการเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกของไทยจากประเทศเกาหลีใต้
นางนฤมล เปิดเผยว่า จากที่นายกรัฐมนตรีได้หารือกับนายยุน ซ็อก ย็อล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 78 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ โดยบริษัท LH เนื่องจากเป็นโครงการที่มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากเกาหลีใต้
นางนฤมล กล่าวว่า บริษัท LH เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และคมนาคม ได้แสดงความประสงค์เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ต่อมาได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการเข้ามาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ซึ่งจากการหารือในวันนี้ ทาง กนอ. และบริษัท LH บรรลุข้อตกลงที่จะเลือกจังหวัดชลบุรี เป็นสถานที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเป็นลำดับแรก เพราะเป็นพื้นที่ที่มีบริษัทในห่วงโซ่อุปทานของเกาหลีใต้ ทำให้สะดวกต่อการบริหารจัดการมากที่สุด โดยทางผู้บริหารบริษัท LH จะเดินทางมาดูสถานที่ก่อสร้างภายในปลายเดือนมีนาคมนี้ และจะนำบริษัทต่างๆ ที่มีความประสงค์เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาดูพื้นที่อีกครั้ง ภายในเดือนเมษายน ซึ่งหากได้ข้อสรุปเรื่องสถานที่ ปลายปีนี้ทางประเทศเกาหลีใต้จะเดินหน้าลงทุนตามแผน
นางนฤมล กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และทีมไทยแลนด์ พร้อมสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ในพื้นที่ EEC ในรูปแบบการร่วมทุนภายใต้ Economic Innovation Partnership Program (EIPP) ระหว่าง กนอ. บริษัท LH และบริษัทเอกชนไทย ด้วยเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่จะสร้างผลทวีคูณทางเศรษฐกิจเพิ่มอีกมหาศาล เพราะจากการสำรวจเบื้องต้น มีบริษัทขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้สนใจจะเข้ามาดำเนินกิจการในนิคมนี้อย่างน้อย 56 บริษัท ซึ่งรวมถึงบริษัท Hyundai และ KIA ด้วย ในระยะถัดไป บริษัทขนาดกลางและเล็กของเกาหลีใต้ ก็จะตามเข้ามาลงทุนในนิคมนี้เพิ่มเติมอีก นิคมฯ นี้จึงเป็นโครงการที่มีนัยสำคัญต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล นอกจากจะช่วยสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเกาหลีใต้ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น ยังจะก่อให้เกิดการจ้างงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยอีกเป็นจำนวนมาก