รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า "โรคไข้นกแก้ว (Psittacosis) ไม่ใช่โรคไข้หวัดนก และยังไม่ต้องวิตกกังวลกันมากครับ"
วันสองวันนี้ มีข่าวเตือนเกี่ยวกับโรค “ไข้นกแก้ว” ออกมา แล้วทำให้หลายคนกลัวกันว่า มันจะระบาดและเป็นอันตรายร้ายแรง เหมือนที่เคยมี "โรคไข้หวัดนก" ระบาดเมื่อหลายปี และมีคนเสียชีวิตไปหลายคนมาก
ก็ขอบอกว่า มันเป็นคนละโรคกัน เกิดจากเชื้อโรคคนละชนิดกัน และระดับของอันตรายที่มีต่อสุขภาพ ก็ต่างกันมากครับ : คือ โรคไข้นกแก้ว นั้นมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Psittacosis (ซิตตาโคซิส) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (ดูรูปประกอบ) และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ / ขณะที่โรคไข้หวัดนก มีชื่อว่า avian influenza (หรือ bird flu) เกิดจากเชื้อไวรัส สายพันธุ์ย่อยของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza) มีอัตราการเสียชีวิตสูง ต้องรีบให้ยาต้านไวรัสให้ทันเวลา
ตามข่าวจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของไทย ได้ให้ข้อมูลว่า มีการระบาดของโรค "ไข้นกแก้ว" ในหลายประเทศแถบยุโรป มีผู้เสียชีวิต 5 ราย โดยพบเชื้อในนก สัตว์ปีกในป่า และสัตว์เลี้ยงหลายชนิด .. แต่โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ และเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
โรคซิตตาโคซิส (Psittacosis) หรือโรคไข้นกแก้ว เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่พบได้ยาก ซึ่งมีนกเป็นพาพะ เช่น นกแก้ว นกพิราบ และนกคีรีบูน นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในสัตว์อื่นๆ ที่มีความใกล้ชิดกับนกดังกล่าว เช่น สุนัขและแมว โดยคนจะสามารถติดต่อโรคนี้ได้ผ่านการหายใจเอาละอองเชื้อเข้าไป จากสารคัดหลั่ง ฝุ่นที่ติดอยู่บนขน และมูลแห้งของนก โดยคนกลุ่มเสี่ยงจะเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับนก เช่น สัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ คนเลี้ยงนก รวมถึงผู้ให้อาหารนก เป็นต้น
โดยผู้ติดเชื้อมักมีการอาการแสดงเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และไอแห้ง ซึ่งผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ 5-14 วันหลังจากได้รับเชื้อ และสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือผู้เสียชีวิต มักเป็นกลุ่มคนสูงวัยหรือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และการพบผู้เสียชีวิต สามารถพบได้น้อยมาก
ในอดีตเคยมีการระบาดในนกแก้วหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ คอสตาริกา ออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทย เคยมีการรายงานผู้ป่วยโรคนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539 จากการวิจัยสำรวจในสัตว์ปีกพบเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เช่นกัน แต่พบในอุบัติการณ์ที่ต่ำ .. ล่าสุดยังไม่พบรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย ขอแนะนำให้ประชาชนรับฟังข่าวด้วยความตระหนัก รับทราบความเสี่ยงของภัยสุขภาพ เพื่อทราบแนวทางป้องกันโรค ไม่ตื่นตระหนกตกใจ หรือหลงเชื่อข่าวปลอมจากแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ
สำหรับข้อมูลของโรคไข้นกแก้ว หรือโรคซิตตาโคซิส (Psittacosis) จากศูนย์ CDC ประเทศสหรัฐอเมริกา มีดังนี้
โรคซิตตาโคซิส (Psittacosis)
เกิดจากการที่สัตว์ปีกไปติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Chlamydia psittaci และอาจมีบางเคสที่ติดต่อสู่คน และทำให้เกิดโรคซิตตาโคซิสขึ้น ซึ่งมักจะเป็นคนที่ใกล้ชิดกับนกที่เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น นกแก้ว นกกระตั้ว และเป็ดไก่ โรคนี้ทำให้เกิดอาการป่วยแบบไม่รุนแรง หรือเกิดอาการปอดบวม (pneumonia) จากการติดเชื้อที่ปอด ซึ่งป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการระมัดระวังเวลาสัมผัสและทำความสะอาดสัตว์ปีกและกรงของมัน
มีหลายคนเรียกโรคซิตตาโคซิสนี้ว่า โรคนกแก้ว (parrot disease) หรือ ไข้นกแก้ว (parrot fever) แต่แบคทีเรียดังกล่าวสามารถติดต่อสู่นกได้หลากหลายชนิด / ขณะที่เชื้อแบคทีเรีย Chlamydia psittaci นี้ ในอดีตก็เคยมีการเรียกในชื่ออื่นๆ เช่น Chlamydophila psittaci
แม้ว่าโรคซิตตาโคซิสจะนับว่าเป็นโรคที่พบได้ยากในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่คาดว่าจริงๆ แล้ว มันน่าจะมีการรายงานน้อยกว่าความเป็นจริง และมันยังสามารถจะเกิดการระบาดใหญ่ได้ด้วย / โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา มีรายงานน้อยกว่า 10 เคสต่อปีในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในปี ค.ศ. 2018 เคยเกิดการระบาดของโรคซิตตาโคซิสขึ้นในหลายรัฐ กับกลุ่มคนงานโรงงานเนื้อสัตว์ปีก โดยมี 13 เคสที่ได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการ / ขณะที่ได้เคยเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก ของโรคซิตตาโคซิสมาแล้ว ในปี ค.ศ. 1929 และ 1930 โดยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 800 รายทั่วโลก รวมถึงในสหรัฐอเมริกาด้วย
การแพร่ระบาด : เชื้อแบคทีเรียชนิดที่ก่อโรคนี้ สามารถติดต่อสู่คนที่ไปสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ ซึ่งนกที่ติดเชื้อนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงอาการป่วยออกมา แต่ก็สามารถแพร่เชื้อได้ ผ่านมูลและสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ เมื่อมูลและสารคัดหลั่งของนกแห้งและกลายเป็นผงฝุ่นขนาดเล็ก (ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรียอยู่) ก็สามารถฟุ้งกระจายในอากาศ และพบว่าเคสของผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ เกิดจากการหายใจเอาฝุ่นของมูลนกแห้งเข้าไป มีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากการถูกนกกัด หรือไปจูบปากของนก
โดยทั่วไปแล้ว โรคซิตตาโคซิสไม่ได้แพร่กระจายจากคนสู่คน แม้ว่าจะเคยมีเคสที่หาได้ยากเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่ามีการแพร่เชื้อแบคทีเรียก่อโรคผ่านการเตรียมอาหารหรือรับประทานสัตว์ปีกเป็นอาหาร
พบว่าคนที่เพศวัย มีความเสี่ยงที่จะติดโรคซิตตาโคซิสได้ แต่รายงานส่วนใหญ่มักเป็นในกรณีของผู้ใหญ่ (มากกว่าเด็ก) โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จะเป็นคนที่สัมผัสกับนกที่เป็นสัตว์เลี้ยงและพวกเป็ดไก่ รวมถึงคนที่มีอาชีพเกี่ยวกับนก ได้แก่ เจ้าของนก ลูกจ้างในร้านสัตว์เลี้ยง คนงานฟาร์มเป็ดไก่ และสัตวแพทย์
อาการ : อาการของโรคซิตตาโคซิส จะคล้ายคลึงกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ โดยในคนส่วนใหญ่จะมีอาการป่วยไม่รุนแรง คือ เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ไอแห้ง คนส่วนใหญ่เริ่มมีอาการภายใน 5-14 วันหลังจากได้รับเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia psittaci และอาจมีแค่บางคนที่เริ่มป่วยเมื่อผ่านไปแล้วถึง 14 วัน
ส่วนในสัตว์ปีกนั้น อาการของการติดเชื้อ C. psittaci จะดูไม่ค่อยจำเพาะเจาะจง ประกอบไปด้วยอาการ ไม่เจริญอาหาร ตาอักเสบ หายใจลำบาก ท้องร่วง และนกที่ติดเชื้อนั้นอาจจะไม่แสดงอาการป่วยเลยก็ได้ (สัตวแพทย์ มักเรียกโรคนี้ที่เกิดขึ้นในสัตว์ปีกติดเชื้อ ว่า avian chlamydiosis)
การวินิจฉัยโรค : อาการของโรคซิตตาโคซิสจะคล้ายคลึงกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ อีกหลายโรค และก็ยังไม่มีวิธีตรวจวิเคราะห์หาเชื้อแบคทีเรียโดยตรง ทำให้แพทย์ไม่ค่อยจะสงสัยว่าเป็นโรคนี้ และทำให้ค่อนข้างยากต่อการวินิจฉัย ศูนย์ CDC เองก็ไม่ค่อยจะได้รับรายงานถึงโรคซิตตาโคซิส
จึงควรจะแจ้งแพทย์ให้ทราบ ถ้าเกิดอาการป่วยหลังจากซื้อหรือไปสัมผัส กับนกเลี้ยงหรือเป็ดไก่ แพทย์จะใช้วิธีการตรวจหลายๆ วิธีในการพิจารณาว่าเป็นโรคซิตตาโคซิสหรือไม่ ซึ่งรวมถึงการเก็บเสมหะ เลือด หรือสว็อบตัวอย่างจากในจมูกหรือช่องคอ มาตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย
การรักษา : คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซิตตาโคซิสนั้น มักจะได้รับยาปฏิชีวนะ (antibiotics) เพื่อรักษาโรค ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วถ้าได้รับยาปฏิชีวนะหลังจากที่เริ่มป่วย และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแล้วนั้น ส่วนมากจะหายเป็นปรกติได้ มีเพียงแค่บางคนที่มีอาการรุนแรงและต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล เช่น เกิดอาการปอดบวม (ปอดติดเชื้อ) ลิ้นหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ เส้นประสาทหรือสมองอักเสบ ทำให้เกิดปัญหากับระบบประสาท ส่วนอัตราการเสียชีวิตนั้นน้อยมาก คือน้อยกว่า 1 ใน 100 เคส (ถ้าได้รับยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม)
การป้องกันโรค : ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคซิตตาโคซิส และถ้าเคยติดโรคนี้แล้ว ก็สามารถติดได้อีกในอนาคต / แต่สามารถดูแลป้องกันตนเองและผู้อื่นได้ เช่น ซื้อนกจากร้านสัตว์เลี้ยงที่เชื่อถือได้เท่านั้น และถ้ามีหรือทำงานเกี่ยวกับนกหรือสัตว์ปีก ให้ระมัดระวังในการสัมผัสจับต้องและทำความสะอาดตัวนกและกรง ได้แก่
- รักษาความสะอาดของกรง ; ทำความสะอาดกรง และถ้วยน้ำถ้วยอาหาร ทุกวัน
- จัดวางตำแหน่งของกรง ไม่ให้อาหาร ขนนก และมูลนก กระจายถึงกันได้ (กล่าวคือ อย่าวางกรงซ้อนทับกัน , ใช้กรงที่มีผนังปิดด้านข้าง หรือหาที่กั้นระหว่างกรง ถ้าจำเป็นต้องวางกรงไว้ข้างกัน)
- หลีกเลี่ยงไม่ให้นกอยู่แน่นกรงเกินไป
- แยกนกที่ติดเชื้อออกไปทำการรักษา
- ใช้น้ำและยาฆ่าเชื้อ ราดบนพื้นผิวกรง ก่อนที่จะทำความสะอาดกรงหรือพื้นผิวที่มีมูลนกเปื้อนอยู่ หลีกเลี่ยงการเช็ดแบบแห้งหรือใช้เครื่องดูดฝุ่น เพื่อลดการกระจายของขนนกและฝุ่น (ที่ปนเปื้อนเชื้อ) อย่าลืมล้างมือของคุณให้ทั่วด้วยน้ำไหลผ่าน และสบู่ หลังจากที่สัมผัสกับนกหรือมูลของมัน
- ใช้อุปกรณ์ป้องกันตัว เช่น ถุงมือ และหน้ากากที่เหมาะสม เมื่อต้องสัมผัสจับต้องนกที่ติดเชื้อ หรือทำความสะอาดกรงของมัน