นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า คุณอนันต์แฝงโทษมหันต์ (ถ้าไม่ระมัดระวัง) ของยาลดไขมันในเลือด.
ปัจจุบัน ใครมีความเสี่ยง ต้องลดไขมันเลว LDL ให้ถึง 30-50
ยาเป็นปัจจัยสี่อย่างเดียวกระมังที่มีคุณอนันต์ แต่ก็อาจมีโทษมหันต์
การรักษาด้วยยา มีเป้าประสงค์ คือ เพื่อป้องกันความผิดปกติที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น (primary prevention) หรือ เพื่อบรรเทาอาการ และ/หรือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วกับเนื้อเยื่อหรืออวัยวะนั้นๆ เมื่อโรคเกิดขึ้นแล้วและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคนั้นซ้ำซ้อนอีก (secondary prevention)
ดังนั้นต้องชั่งใจว่ายาที่ได้รับต้องไม่กลายเป็น “ผู้ร้าย” เสียเองหรือถ้าได้รับยาหลายตัวพร้อมกันร่างกายอาจกลายเป็น “สนามรบ” ของยาต่อสู้กันเอง
อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ทำให้ต้องระมัดระวังในการใช้ยา ใช้เมื่อจำเป็น ใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน จะใช้ไปนานเท่าใด และถ้าใช้ยาชนิดหนึ่งอยู่แล้วถ้าได้รับตัวใหม่เข้าไป (เช่น สำหรับ อาการอื่นๆหรือโรคอื่นๆ) ต้องคิดก่อนว่าจะไปด้วยกันได้หรือไม่ กล่าวคือต้องประเมินข้อดี - เสียของการใช้ยาเสียก่อนเสมอ
ขณะเดียวกันต้องไม่กลัวจนขึ้นสมอง ว่ายาคือ สารเคมี สารพิษ ทำลายตับ ไต เพราะโรคบางโรคถ้าไม่ควบคุม รักษา ป้องกันอย่างเหมาะสมมีอันตรายแฝงมากกว่ายา
ในเรื่องของไขมันในเลือด มีไขมันร้ายหลายชนิด ที่รู้จักกันดีคือ ไขมันโฆเรสเตอรอล (cholesterol) โดยเฉพาะตัวเลวที่ชื่อว่า LDL (low density lipoprotein) เป็นผู้ร้ายก่อให้เกิดเส้นเลือดตีบตัว ผนังหนา นำมาซึ่งโรคของหลอดเลือดหัวใจ หัวใจวาย และโรคเส้นเลือดสมองตีบอัมพฤกษ์ อัมพาต จึงเป็นเหตุให้ต้องควบคุมระดับไขมันร้ายในเลือดนี้
ทั้ง ๆ ที่บางครั้งผู้ป่วยยังไม่มีอาการผิดปกติใด แต่เดิมมามียาลดไขมันในเลือดหลายขนาน (ต่อไปจะย่อเรียกยาลดไขมัน ชื่อนี้ทำให้หลายท่านเข้าใจผิด นำไปใช้เพราะหวังจะลดไขมันที่พอกพูนใต้ผิวหนัง ไม่ใช่นะครับ)
แต่ระยะหลังยาที่ไช้ได้ผลดีในการลดไขมัน และช่วยป้องกันโรคได้อย่างมีหลักฐานชัดเจน และดูเหมือนมีอันตรายน้อย คือ ยากลุ่ม statin โดยตัวแรกๆ ที่ได้รับการรับรองออกสู่ตลาด ตั้งแต่ปี คศ.1991 ในสหรัฐ คือ Simvastatin (ชื่อสามัญ; เช่นZocor ชื่อการค้า)ครองตลาดอยู่นานปี จนมีพี่น้องลูกหลานตามมาหลายตัว อาทิ Atorvastatin (เช่น Lipitor), Rosuvastatin (เช่น Crestor) และอื่นๆอีกมากมาย
อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้เป็นที่ทราบตั้งแต่ต้นว่า ยาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบ้าง แต่กระนั้นเนื่องจากการใช้ยากลุ่มนี้กว้างขวางมากในโลกนี้ เพราะการป้องกันความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองซึ่งนำมาซึ่งความสูญเสียสูงทั้งผู้ป่วยญาติ และเงินที่ต้องใช้ในการรักษา ทำให้ก็ยังเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่พบน้อยตอนแรก หลุดรอดออกมาได้เรื่อยๆ
ตัวอย่าง
คุณมงคล (นามสมมุติ) อายุ 65 ปี มีโรคประจำตัว คือ ลงพุง (โรค อ้วนลงพุง เส้นรอบพุงยาวกว่า 90เซนติเมตรในชาย 80ในหญิง ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากหลายสำนักแล้วว่ามีความเสี่ยงของโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ มากกว่าก้นใหญ่จากการสะสมของไขมัน)
และความดันเลือดสูง ประมาณแปดปีที่แล้ว คุณมงคล เกิดอัมพฤกษ์ของก้านสมองทำให้มีเดินโซเซ เห็นภาพซ้อน และกลืนสำลัก หลังรักษาอาการดีขึ้นรวมทั้งความดันโลหิต และแม้อาการกลืนสำลักยังคงมีอยู่ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้ง การบริโภคอาหารนานาชนิดได้ คุณมงคลมีอาการเหนื่อยมากและแน่นหน้าอก 2 เดือนที่แล้ว ได้รับการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ
หลังจากนั้นได้รับยาเพิ่มเติม คือ ยาลดไขมัน Simvastatin (ชื่อสามัญ) โดยมีขนาดเพิ่มเป็น 40 มิลลิกรัมต่อวัน จากเดิมที่ใช้ขนาด 10 มิลลิกรัม คุณมงคลมีอาการดีขึ้นมาเรื่อยๆ ทำการเลี้ยงฉลองที่รอดชีวิตหลายครั้ง
จน 6 อาทิตย์ถัดมาเกิดข้อหัวแม่เท้าอักเสบ ซึ่งเกิดจากโรคเก๊าท์ (Gout) และได้รับยาแก้ปวดเก๊าท์ชื่อ Colchicine และได้กินอยู่ตลอดในขนาดวันละ 2 เม็ด เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
1 อาทิตย์ก่อนหน้าที่เข้าโรงพยาบาล (อีกครั้ง) คุณมงคล ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามต้นแขน บ่า ไหล่ ต้นขา น่อง อาการเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ แวะเวียนไปหาแพทย์ 2 ครั้ง ได้รับการวินิจฉัยว่า อาจเป็นไข้หวัดกลางใหญ่กลางเล็ก กล่าวคือ อาจเป็นจากติดเชื้อไวรัสซึ่งไม่ใช่ฟลู (Influenza) แต่มากกว่าหวัดธรรมดา
ต่อมามีอาการขาอ่อนแรงทั้งสองข้าง ซึ่งลามมาที่แขนและเป็นมากจนขึ้นบันไดต้องใช้คนพยุง จนต้องเข้าโรงพยาบาลเอกชน แห่งหนึ่ง ผลการตรวจร่างกายพบว่า แขน ขา อ่อนแรงมากทั้ง 2 ข้าง และยังคงมีอาการปวดเมื่อยทั่วทั้งตัว ตรวจเลือดพบว่ามีการสลายของเซลล์กล้ามเนื้อ และมีผลทำให้ตกตะกอนในไต ทำให้ไตเริ่มทำงานบกพร่องไปจากเดิมซึ่งเป็นไม่มาก
นอกจากนั้น คุณมงคล ยังได้รับการตรวจอีกหลายอย่างทั้งคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ-ประสาท และการตัดกล้ามเนื้อไปชัณสูตร
นอกจากนั้น ยังจะทำการตรวจหาสาเหตุกล้ามเนื้ออ่อนแรงอีกหลายอย่าง
ญาติของคุณมงคลได้มาปรึกษาความเห็นว่าควรจะต้องตรวจอะไรต่อมิอะไรต่อไปหรือไม่ และทำอย่างไรจึงจะเดินได้อีก จากประวัติและอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง น่าจะเข้าได้จากการเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากยาลดไขมัน
ทั้ง ๆ ที่คุณมงคลกินอยู่แล้วเป็นเวลาหลายปี แต่ในระยะหลัง ได้ปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดิม รวมทั้งยังได้ยาไขมันร่วมกับยาโรคเก๊าท์ Colchicine ซึ่งในบางรายทำให้เกิดโรคของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท (neuromyopathy) อยู่แล้วประกอบกับการทำงานของไตไม่ปกติ
เหล่านี้ทั้งหมดเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดปวดกล้ามเนื้อจนถึงแหลกสลาย (rhabdomyolysis) ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงจะไปตกตะกอนในไตและไตวายต่อไปได้ หลังจากคุณมงคลหยุดยา Simvastatin และ Colchicine อาการก็เริ่มทุเลา และเริ่มลุกขึ้นยืนเดินโดยช่วยพยุงภายใน 2 อาทิตย์ และกลับเป็นปกติใน 6 อาทิตย์
ภาวะส่งเสริมให้เกิดกล้ามเนื้อผิดปกติ ยังเกี่ยวกับอายุ คือ มากกว่า 65 ปี มีโรคต่อมไธรอยด์ทำงานน้อย (hypothyroidism) มีไตทำงานไม่ปกติ การได้รับยาอื่นๆร่วมที่สำคัญ คือ ยาลดไขมัน Gemfibrozil (เช่น Lopid) และกลุ่ม Fibrate อื่นๆทั้งหมด โดยที่บางครั้งผู้ป่วยจะมีไขมันสูงทั้ง cholesterol และ triglyceride ในกรณีนี้ ไม่ควรใช้ Simvastatin ในขนาดเกิน 10 มิลลิกรัมต่อวันเมื่อมียาลดไขมันดังกล่าวร่วมด้วย (ปริมาณ Simvastatin ในรายปกติใช้ได้ ตั้งแต่ 5-80 มิลลิกรัมต่อวัน)
ยาอื่นๆที่ต้องระวัง เพราะเป็นยาที่ทำให้ระดับ Simvastatin สูงขึ้นมาก ดังนั้นไม่ควรใช้ร่วมกับ Simvastatin เลย เช่น ยาป้องกันการเต้นผิดปกติของหัวใจ Amiodarone (เช่น Cordarone) Verapamil (เช่น Isoptin) ยาฆ่าเชื้อรา Itraconazole Ketoconazole ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Erythromycin Clarithromycin (เช่น Klacid) และยาโรคเอดส์ HIV protease inhibitors และยาต้านซึมเศร้า Nefazodone และห้ามดื่มน้ำผลไม้ชื่อ Grapefruit เกินวันละ 1 ลิตร
นอกจากนั้น Simvastatin ยังมีปฏิกริยาเสริมหรือต้านฤทธิ์กับยาอื่นๆ อีกหลายชนิด อย่างนี้เรียกว่ายาตีกัน นอกจากนั้น ห้ามให้เด็ดขาดในสตรีมีครรภ์และควรแน่ใจว่าไม่มีแผนที่จะมีบุตรในขณะที่ใช้ยา เนื่องจากเด็กอาจพิการและไม่ควรให้ในสตรีที่ให้นมลูก รวมทั้งยาเองยังทำให้เกิดตับอักเสบได้
ที่หมอเล่ามายืดยาวขนาดนี้ ไม่ได้หมายความว่าต่อไปนี้ไม่ควรใช้ยาในกลุ่ม statin
ยาในกลุ่มนี้ทั้งหมดมีความดีที่พิสูจน์แล้วในหลายการศึกษาขนาดใหญ่ทั่วโลก คือ เก่งกาจสามารถป้องกันโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ แต่ยาแต่ละตัวในกลุ่มนี้แตกต่างกันบ้างในประสิทธิภาพในการคุมไขมันในเลือดชนิดต่าง ๆ ซึ่งไม่มากนัก แต่อาการไม่พึงประสงค์จะเหมือนกันทั้งกลุ่ม
ดังนั้นจึงไม่น่าต้องเสาะแสวงหายาแพงๆ ในกลุ่มนี้มาใช้ เนื่องจากขณะนี้ ประเทศไทยมียาที่ผลิตเองได้ในกลุ่ม Simvastatin และอื่นๆ หลายบริษัทด้วยกัน โดยมีสรรพคุณเทียบเคียงได้กับยาต้นแบบ
ข้อสำคัญในการใช้ยากลุ่มนี้ คือ การสั่งใช้ และข้อควรระวังในเรื่องยาตีกัน อาจต้องเคร่งครัด จริงอยู่อุบัติการณ์ในการเกิดปวดกล้ามเนื้อ แม้จะไม่มากประมาณ 3-5 ใน 1,000 และถึงขั้นรุนแรงจนแหลกสลายจะน้อยกว่าก็ตาม จากข้อมูลในต่างประเทศซึ่งเกี่ยวพันกับ “ดวง” หรือยีน (gene) และปัจจัยอื่นๆ ที่กล่าวไปแล้ว
โดยปกติยีนที่มีบทบาทในการเกิดปฏิกริยาที่ไม่พึงประสงค์ของยาและมีการศึกษามากจะตกในกลุ่มยีนที่ควบคุมการย่อยสลาย (metabolizing enzymes) การส่งผ่าน (transporter) ซึ่งมีผลต่อระดับยาและการขับถ่ายยาออกจากร่างกาย และยีน HLA ซึ่งเกี่ยวพันกับปฏิกริยาแพ้ แต่การศึกษายีนเหล่านี้มีข้อจำกัดที่ศึกษาไม่ได้หลายตำแหน่ง
การศึกษาทั้ง genome ของมนุษย์ใน 85 คน ที่ได้รับยาแล้วมีอาการทางกล้ามเนื้อกับ 90 คนที่ไม่มีอาการ พบว่า เกี่ยวกันกับยีนที่อยู่ในโครโมโซม 12 ในตำแหน่งของ SLCOIBI จากการศึกษา single nucleotide polymorphism (SNP) มากกว่า 300,000 ตำแหน่ง ซึ่งผลที่ได้นำไปทำการพิสูจน์ในผู้ป่วยกลุ่มใหญ่อีกครั้ง
การมียีนจำเพาะในตำแหน่งดังกล่าวส่งผลควบคุมทำให้ระดับยาในเลือดเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษและยาเข้าตับได้มากขึ้น และยังอาจอธิบายได้ว่า ทำไมยาแต่ละตัวในกลุ่ม Statin อาจมีความดีมากน้อยไม่เท่ากัน (คณะทำงาน SEARCH วารสารนิวอิงแลนด์ เดือน สิงหาคม 2008)
และยังอาจเป็นข้ออธิบายได้ว่าทำไมมีผลในแต่ละเชื้อชาติต่างกัน เช่น คนไทยมักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีหลายรายที่รุนแรงจนกล้ามเนื้อแหลกสลายมากกว่า
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจเกิดเนื่องจากมีตัวเสริม คือ สภาพไตพบพร่องอยู่แล้ว และมีการใช้ยาอื่นร่วมด้วย หรือ เมื่อมีสัญญาณเตือนด้วยอาการเมื่อยกล้ามเนื้อก็ยังคงใช้ยาต่อไปอีกดังเช่นในกรณีของคุณมงคล
การที่ยาลดไขมัน statin เป็นที่แพร่หลายทั่วโลก ทั้งนี้ ประโยชน์อาจไม่ได้เกิดจากการที่ยาไปลดไขมันไม่ดีโดดๆ พบว่าอาจยังมีผลดีต่อการช่วยการทำงานของหลอดเลือด และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ(แต่ไม่ใช่ยาแก้อักเสบฆ่าเชื้อนะครับ) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญในการเกิดเส้นเลือดตีบ
ยา Statin จัดเป็นสุดยอดของการค้นคว้า และนำมาใช้ป้องกันโรคของเส้นเลือดตั้งแต่ก่อนเกิดโรค และใช้ในการป้องกันการเกิดซ้ำได้อีก
ในปี คศ.1976 หนุ่มน้อย นักวิทยาศาสตร์ ชื่อ Akira Endo และคณะเป็นผู้ค้นพบยาในกลุ่ม Statin ซึ่งมีฤทธ์ยับยั้งการสร้าง cholesterol จากสารตั้งต้น คือ Acetyl – coenzyme A งานของ Endo เริ่มตั้งแต่ปี คศ.1971 ที่บริษัท Sankyo Pharmaceutical ในกรุงโตเกียว Endo เริ่มงานโดยการวิเคราะห์สารที่ผลิตจากเชื้อรามากกว่า 6,000 ชนิด หลังจากผ่านไป 2 ปี จึงสามารถพบว่า รา Penicillium citrinum สร้างสารที่มีชื่อว่า ML-236 B ซึ่งสารนี้ยับยั้งการรวมตัวของ acetate เข้าไปใน cholesterol ดังนั้น จึงสามารถลดการสังเคราะห์ cholesterol ได้ถึง 50% และเกิดจากการยับยั้ง HMG-CoA reductase Endo และคณะได้ทำการพิสูจน์ประสิทธิภาพในสัตว์ทดลอง และได้รับการยืนยันว่าได้ผลจริงในคน ทั้งในการลดไขมันเสียในเลือด และช่วยป้องกันโรคไม่น้อยกว่าร้อยละ 20-30 ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง และแม้กระทั่งผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานด้วย และนี่คือที่มาว่าทำไมแม้ผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดตีบในสมองหรือหัวใจ แม้มีไขมันสูงไม่มากก็ยังคงได้รับประโยชน์จากการใช้ยากลุ่มนี้ Endo ได้รับรางวัล Albert Lasker Clinical Medical Research ซึ่งมีเกียรติเทียบเท่ารางวัล โนเบล ในปีคศ.2008 (Steinberg วารสารนิวอิงแลนด์ เดือนตุลาคม 2008)
การศึกษาในคนปกติที่ไขมันไม่สูงแต่มีตัวชี้วัดการอักเสบที่เรียกว่า C-reactive protein สูงเมื่อใช้ยา Rosuvastatin ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคเส้นเลือดตีบได้ เป็นการพิสูจน์ว่า Statin มีสรรพคุณทั้งทางตรง (ลดไขมันเสียในเลือด) ทางอ้อม (ช่วยเส้นเลือดและลดการอักเสบ) (Hlatky วารสารนิวอิงแลนด์ เดือน พฤศจิกายน 2008) และอาจเป็นข้ออธิบายว่าทำไมยาลดไขมัน Ezetimibe (ชื่อการค้า Ezetrol) ซึ่งออกฤทธิ์ โดยการยับยั้งการดูดซึมของ cholesterol ทางลำไส้อาจไม่เก่งนัก
การศึกษาในกลุ่มที่มีไขมันสูง แบบกรรรมพันธุ์ ซึ่งแม้แต่ยาไขมัน Statin ก็ยังลดไขมันเสียได้ไม่มาก เมื่อใช้ร่วมกับยา Ezetimibe และทำการวัดความหนาตัวของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองและขา กลับไม่พบว่าการใช้ยาทั้ง 2 ตัวคู่กันดีกว่ายา Simvastatin ตัวเดียว
ทั้งๆที่ระดับไขมันเสียลดลงได้อย่างมากมาย (Kastelein และคณะ วารสารนิวอิงแลนด์ เดือน เมษายน 2008) และยังไม่ได้ผลในการป้องกันการเกิดลิ้นหัวใจตีบ (aortic stenosis) ซึ่งไขมันสูงเป็นปัจจัยร่วมกับกรรมพันธ์ ความดันเลือดสูง เบาหวาน บุหรี่ (Otto วารสารนิวอิงแลนด์ กันยายน 2008) และเป็นที่มาว่าในปัจจุบัน การใช้ยาลดไขมันต้องคำนึงถึงผลของการลดไขมันและผลลัพท์ที่ได้ในผู้ป่วยว่าได้ประโยชน์จริงหรือไม่ คือ เกิดโรคน้อย ตายน้อย เข้าโรงพยาบาลน้อยลง (Greg Brown และ Taylor วารสารนิวอิงแลนด์ เมษายน 2008)
ยาลดไขมันในเลือดอื่นนอกจากกลุ่ม Statin ที่มีสรรพคุณที่ว่า แต่น้อยกว่า และผลข้างเคียงมากกว่า ได้แก่ Nicotinic acid ยา
กลุ่ม Fibrates ยาจับน้ำดี bile acid sequestrant เช่น Cholestyramine
นอกจากนั้นสิ่งที่ยังน่ากังวลสำหรับ Ezetimibe คือ การที่พบว่า ผู้ใช้ยามีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งในทางเดินอาหาร และที่ผิวหนัง (Drazen และคณะวารสารนิวอิงแลนด์ กันยายน 2008) แต่ยังเป็นข้อถกเถียงว่าการเกิดมะเร็งเกี่ยวกันกับการใช้ Ezetimibe หรือไม่ (Peto และคณะ วารสารนิวอิงแลนด์ กันยายน 2008)
จะอย่างไรก็ตาม จากข้อมูลหลักฐานดังกล่าวยังไม่สนับสนุนการใช้ Ezetimibe มากนัก แม้ว่าจะเก่งขึ้นในการลดไขมันเสียก็ตาม
บทนี้ยาวมากเป็นพิเศษครับ แต่เกี่ยวพันกับยาที่มีผู้ใช้มากเป็นอันดับต้นๆทั่วโลก อาจใช้โดยไม่ระวังและปัญหาอาจเกี่ยวกันกับโรคประจำตัวที่มีอยู่แล้ว เช่น ไต ตับ หรือใช้ยากลุ่มอื่นๆร่วมอยู่แล้ว และการที่คนไทยอาจมีดวงไม่ดีจนมีอุบัติการณ์ของการเกิดผลแทรกซ้อนทางกล้ามเนื้อ และอาจรวมถึงตับมากกว่าฝรั่ง
ข้อดีของยากลุ่มนี้ในการควบคุมโรคมีมากจนขณะนี้บริษัทยาในสหรัฐได้เสนอให้มีการขายโดยไม่ต้องมีการควบคุม ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แต่ยังเป็นข้อถกเถียงถึงข้อดี ข้อเสีย (Tinetti วารสารนิงอิงแลนด์ มิถุนายน 2008) ในประเทศเรา หาซื้อยาเองได้แทบทุกชนิด แม้โดยทั่วไปในบ้านเราก็ไม่ได้มีผู้ซื้อยากลุ่มนี้กินเองมักเริ่มเมื่อตรวจพบและแพทย์สั่งแล้ว
ปัญหามักเป็นว่าผู้มีโรคนี้แอบแฝงไม่ได้รับการวินิจฉัย ควบคุม รู้ว่าเป็นแล้วซื้อกินต่อเอง ไม่ได้ปรับให้ขนาดเหมาะสม กินไม่ต่อเนื่องเพราะไม่มีอาการ ถ้าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ก็กินต่อ ๆ ไปจนรุนแรง เพราะไม่ได้ติดตามผล
ซื้อยาอื่นที่ไม่ควรใช้ร่วมกันมากินเอง จากคำบอกเล่าของเพื่อน หรือ จากโฆษณาว่าดีอย่างเดียว โดยไม่ได้ระมัดระวังในข้อควรระวังอื่นๆ อีก แล้วยาก็มาตีกัน
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าการควบคุมไขมันในเลือดไม่ได้เริ่มจากยา การรักษาสุขภาพต้องมาก่อน ได้แก่ การออกกำลังกายเพิ่มขึ้น การเลือกกินอาหารที่เหมาะสม การดื่มพอดี ๆ(แม้เขาว่าให้เหล้า=แช่ง แต่ดื่มพอเหมาะรักษาเส้นเลือดจริง ๆ) บังเอิญที่ว่าพูดง่ายทำยาก คนเลยเลือกกินยา