นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ปธ.กมธ.นิรโทษกรรม ออกมาระบุถึงมูลเหตุความขัดแย้งทางการเมืองที่จะนำมาพิจารณาในที่ประชุม กมธ. นิรโทษกรรม ซึ่งจะเริ่มนับจากวันที่ 1 ม.ค. 2548 และจะมีการตั้งอนุ กมธ. เพื่อเก็บสถิติทางคดีที่จะเกิดขึ้นจากแรงจูงใจทางการเมืองว่า
พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำการติดตามเรื่องดังกล่าวมาอย่างใกล้ชิด และสื่อสารผ่านตัวแทนพรรคที่ไปดำรงตำแหน่งเป็น กมธ.วิสามัญชุดดังกล่าว ว่าพรรคไม่ติดใจเรื่องเงื่อนเวลาของการพิจารณา แต่เป็นห่วงในความไม่ชัดเจนของ กมธ. ว่าจะพิจารณาคดีทุจริตหลายคดีที่เกิดขึ้นไปในแนวทางใด เพราะพรรคไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการนิรโทษกรรมคดีทุจริต ไว้ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องจากที่ผ่านมามีได้เคยมีความพยายามในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยรวมคดีทุจริตมาแล้ว
ดังนั้นหากกฎหมายนิรโทษกรรมที่กำลังพิจารณาในชั้น กมธ.นี้ เป็นไปในแนวทาง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเดิม จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยับเยิน และจะเป็นตัวปะทุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมาอีกมาก นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา 112 ซึ่ง กมธ.ชุดนี้ยังไม่มีความชัดเจนอีกเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีจุดยืนว่า จะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตราดังกล่าวด้วย เพราะทั้งคดีทุจริต และคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ไม่ใช่คดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง อันเป็นเหตุให้กระทำความผิด ส่วนคดีอื่นๆ ที่ กมธ.วิสามัญจะพิจารณานั้น พรรคจะได้ติดตามดูว่าเป็นคดีที่มีองค์ความผิด หรือฐานความผิดใด ที่สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณา โดยไม่เอาตัวบุคคลเป็นที่ตั้ง
“พรรคมีจุดยืนชัดเจนว่าจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับคดีทุจริต และคดีที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา 112 เพราะไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่เกิดจากกรณีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองที่จะต้องให้กระทำความผิดในเรื่องดังกล่าว เพราะฉะนั้น 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่พรรคจะติดตาม และแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
นอกจากนี้ นายราเมศ กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีมติยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 เพื่อซักถามข้อเท็จจริงว่า กลไกการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ถือเป็นกระบวนการตรวจสอบอีกช่องทางหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ แม้จะไม่มีการลงมติ แต่ก็สามารถชี้ให้ประชาชนเห็นถึงความไม่ชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินได้ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มี สส. 25 เสียง ทำให้ไม่สามารถยื่นญัตติได้โดยลำพัง ฉะนั้นเมื่อเป็นมติของที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านให้ใช้มาตรา 152 ในการยื่นญัตติทั่วไปไม่ลงมติ พรรคก็ต้องทำหน้าที่ให้เต็มที่
สำหรับในส่วนข้อมูลการอภิปรายนั้น พรรคได้จัดเตรียมข้อมูลมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะแม้รัฐบาลจะอ้างว่ายังไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การใช้งบตามปีงบประมาณใหม่ แต่รัฐบาลไม่ได้ทำงานตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ตอนแถลงนโยบายต่อสภา
“การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ มีหลายเรื่องที่รัฐบาลต้องตอบ จะมาอ้างว่ายังไม่ได้ใช้งบได้อย่างไร แล้วงบที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ อย่างไปปรับปรุงทำเนียบร้อยกว่าล้าน ถามว่าใช้งบส่วนไหน จะตรวจสอบติติงไม่ได้เชียวหรือ เรื่องเหล่านี้ฝ่ายค้านต้องตรวจสอบด้วยกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ” นายราเมศกล่าว
พร้อมกับเพิ่มเติมในส่วนของการร่างญัตติเปิดอภิปรายนั้น พรรคได้ประสานกับพรรคก้าวไกล ผ่านนายนริศ ขำนุรักษ์ รองหัวหน้าพรรค โดยจะได้ร่วมกันตรวจดูญัตติเพื่อให้ครอบคลุมปัญหาทั้งหมด
“การทำงานตลอด 6 เดือนรัฐบาลเศรษฐา ยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน อย่าไปนับรวมตอนหาเสียงเลย เอาเฉพาะที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่เพิกเฉยต่อนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ประชาชนสามารถคิดได้ว่าเป็นรัฐบาลกลิ้งกลอกไม่จริงใจ รัฐบาลหน้าไหว้หลังหลอก ผมเชื่อว่าการอภิปรายจะเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและประเทศแน่นอน เราจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ ตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ยึดข้อบังคับการประชุมเป็นที่ตั้ง” นายราเมศกล่าว