นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ปกติตัวแทนไฟแนนซ์ที่ติดตามยึดรถ จะตามยึดรถได้อย่างเดียว ส่วนค่าติดตาม ค่าเสียหาย ค่างวด หากผู้เช่าซื้อไม่จ่าย ก็ต้องไปฟ้องศาล
แต่การที่จำเลย (ตัวแทนไฟแนนซ์ที่ติดตามยึดรถ) ขู่เข็ญให้ผู้เสียหายจ่ายเงินค่าติดตามรถยนต์คืน หากไม่นำมาให้จะยึดรถยนต์กระบะของผู้เสียหายไป จำเลยมีความรับผิดทางอาญาฐานใด ( กรณีนี้การที่ไฟแนนซ์ติดตามทวงหนี้ )
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5146/2557
ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก บัญญัติว่า ” ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชกทรัพย์”
ดังนั้นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญเป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจว่า จะได้รับภัยในทรัพย์สินของตนจากการกระทำของผู้ขู่เข็ญ ซึ่งอาจขู่เข็ญตรงๆหรือใช้ถ้อยคำหรือทำกริยาให้เข้าใจเช่นนั้นก็ได้ โดยไม่จำเป็นที่ผู้ขู่เข็ญต้องกระทำต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญจนเสียรูปทรง หรือเปลี่ยนรูปทรงไปจากเดิมหรือใช้การไม่ได้หรือทำให้เสื่อมค่าเสื่อมราคาดังที่จำเลยฎีกา
การที่จำเลยขู่เข็ญให้ผู้เสียหายจ่ายเงินค่าติดตามรถยนต์คืน หากไม่นำมาให้จะยึดรถยนต์กระบะของผู้เสียหายไป จึงเข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญคือรถยนต์กระบะของผู้เสียหายแล้ว ซึ่งทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวและยินยอมให้เงิน 2,300 บาท แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชก