นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ก "หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC" ระบุว่า ไรโนไวรัส (Rhinovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดธรรมดา (common cold) มีสายพันธ์ุย่อยมากกว่า 165 สายพันธุ์ ไม่มีวัคซีนป้องกัน เป็นแล้วเป็นอีกได้ รักษาตามอาการ บางคนติดเชื้อไรโนไวรัส อาการหนักได้
ผู้ป่วยหญิงอายุ 40 ปี แข็งแรงดี ไม่มีโรคประจําตัว มีลูก 2 คน วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ลูกคนโตอายุ 3 ขวบครึ่ง มีไข้สูง 39.7 องศาเซลเซียส ไอ มีเสลด มีน้ำมูก ตาบวม แยงจมูกส่งตรวจรหัสพันธุกรรม 22 สายพันธุ์ พบ Rhinovirus เพียงตัวเดียว นอนรักษาในโรงพยาบาล 1 วัน ดีขึ้นเร็ว เด็กคงติดไรโนไวรัสจากเพื่อนในโรงเรียน เพราะที่โรงเรียนแจ้งว่ามีเด็กในห้องเรียนป่วยเป็นไรโนไวรัสมากกว่า 10 คน
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2 วันหลังจากลูกป่วย ผู้ป่วยเริ่มมีไข้สูง 39.2 องศาเซลเซียส เจ็บคอมาก ไอมีเสมหะ มีน้ำมูกมาก ปวดเนื้อปวดตัว ตาแดงทั้ง 2 ข้าง วันที่ 23 กุมภาพันธ์ แยงจมูกส่งตรวจรหัสพันธุกรรม 22 สายพันธุ์ พบ Rhinovirus ตัวเดียวกับลูก ได้ยารักษาตามอาการ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 8 วันหลังเริ่มป่วย ยังไอ มีเสมหะมากจนนอนไม่ได้ เจ็บคอ หนังตาทั้ง 2 ข้างบวม ตายังแดง
ตรวจร่างกาย ไม่มีไข้ ระดับออกซิเจนในเลือด 98% ตาแดง เยื่อบุตาขาวทั้ง 2 ข้างอักเสบ (Conjunctivitis) หนังตาบวมทั้ง 2 ข้าง คอแดงเล็กน้อย ฟังปอดปกติ เอกซเรย์ปอดปกติ
วินิจฉัย: ติดเชื้อไรโนไวรัสวันที่ 8 แล้วอาการยังค่อนข้างมาก
ให้ยาสเตียรอยด์ ยา Singulair (montelukast) ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก ไปกินที่บ้าน
ติดตาม 1 สัปดาห์ อาการทุกอย่างดีขึ้นเหลือแต่เจ็บคอเล็กน้อย ผู้ป่วยเคยติดไวรัสโควิด 1 ครั้ง อาการครั้งนั้นยังไม่หนักเท่ากับป่วยเป็นไข้หวัดจากเชื้อไรโนไวรัสครั้งนี้