xs
xsm
sm
md
lg

“ยานโอดิสซิอุส”ส่งภาพพื้นผิวดวงจันทร์กลับมาได้สำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ระบุว่า หลังจากยานโอดิสซิอุสของ Intuitive Machines บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศในสหรัฐอเมริกา ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2024 ที่ผ่านมา ข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานะของยานลำนี้ก็มาถึงโลก รวมถึงภาพถ่ายบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่ถ่ายจากยานโอดิสซิอุส

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ทาง Intuitive Machines ประกาศว่ายานโอดิสซิอุสยังคงติดต่อกับศูนย์ควบคุมบนโลก แม้ว่ายานจะเอียงตะแคงคว่ำหลังการลงจอด แต่ก็สามารถส่งข้อมูลภาพจากพื้นผิวดวงจันทร์กลับมาได้สำเร็จ

ยานลูนาร์ รีคอนเนสเซนส์ ออร์บิเตอร์ (LRO) ของนาซาที่โคจรรอบดวงจันทร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 ได้ถ่ายภาพพื้นผิวดวงจันทร์จากระดับความสูง 90 กิโลเมตร แสดงให้เห็นยานยานโอดิสซิอุสบนพื้นที่ลงจอด ภาพจากยาน LRO ช่วยยืนยันว่ายานโอดิสซิอุสลงจอดที่พิกัดละติจูด 80.13 องศาใต้ ลองจิจูด 1.44 องศาตะวันออก และอยู่ในพื้นที่ภายในระยะห่าง 1.5 กิโลเมตรจากตำแหน่งเป้าหมายของการลงจอด

เมื่อยานโอดิสซิอุสถึงพื้นผิวดวงจันทร์แล้ว ทีมควบคุมภารกิจยังไม่สามารถยืนยันสถานะของยานได้ในทันที เพราะตัวยานไม่ได้ส่งสัญญาณยืนยันการลงจอดกลับมา จนเริ่มเกิดความตึงเครียดในศูนย์ควบคุมเพราะเวลาได้ผ่านกำหนดการลงจอดไปแล้ว และซ้ำด้วยปัญหาระบบไลดาร์ที่ยานใช้นำทางระหว่างร่อนลงจอดหยุดทำงาน จนทำให้กำหนดการลงจอดถูกเลื่อนออกไป

ทีมวิศวกรได้จัดการปัญหานี้แล้วก่อนยานเริ่มร่อนลง โดยเปลี่ยนมาใช้งานอุปกรณ์ตัวอื่นแทน นั่นคืออุปกรณ์ NDL ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตัวสาธิตเทคโนโลยีไลดาร์ หรือเรียกได้ว่าเป็น “ไลดาร์ตัวสำรอง” ซึ่งพอจะใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยนำทางของยานในการลงจอดได้

จนในเวลาต่อมา ทีมควบคุมภารกิจสามารถตรวจจับสัญญาณอันแผ่วเบาจากยานโอดิสซิอุสได้ หลังจากทีมควบคุมภารกิจได้ตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับยาน ทางทีมวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์สามารถยืนยันว่ายานลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จและสามารถปฏิบัติภารกิจได้ แต่กลับพบว่าตัวยานประสบอุบัติเหตุพลิกตะแคงข้างระหว่างลงจอด ซึ่งภาพการลงจอดของยานได้จากกล้องที่ติดบริเวณกราบด้านข้างของยาน

กล้องตัวอื่นที่ติดไปกับยานโอดิสซิอุส คือ กล้อง EagleCam ที่เดิมมีแผนภารกิจว่าตัวยานจะปล่อยกล้องตัวนี้ออกมาเพื่อถ่ายภาพการลงจอดของยานในมุมมองอื่น แต่เมื่อถึงเวลาที่ยานกำลังร่อนลง ทางทีมที่ควบคุมกล้องตัวนี้ตัดสินใจปิดสวิตช์กล้องและไม่ให้กล้องดีดตัวแยกออกจากยาน ก่อนจะใช้กล้องตัวนี้ถ่ายภาพในภายหลัง

ทางบริษัท Intuitive Machines ประกาศเพิ่มว่ายานโอดิสซิอุสยังเป็นยานที่ลงจอดอยู่บริเวณใกล้กับขั้วใต้มากที่สุดและยังสามารถติดต่อกับศูนย์ควบคุมบนโลกได้ ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของโครงการนี้ เพราะองค์การอวกาศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังแข่งขันกันส่งยานมุ่งหน้าสู่บริเวณใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีน้ำแข็งจำนวนมาก

นอกจากนี้ ทางศูนย์ควบคุมจะยังคงควบคุมการปฏิบัติภารกิจของยานจนกว่าดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้าจากบริเวณพื้นที่ลงจอด จนยานไม่สามารถผลิตพลังงานจากแผงเซลล์สุริยะได้