xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ติวเข้มสื่อฯ เตรียมการเลือก สว. คาดมีผู้สมัครนับแสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมให้ความรู้แก่สื่อมวลชนในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. พร้อมทั้งพบปะพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางและการบูรณาการความร่วมมือในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเลือก สว. โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า การเลือก สว.ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2560 เคยเลือก สว. มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2561 แต่ตอนนั้นเป็นการเลือกตามแบบบทเฉพาะกาล ซึ่งเป็นการเลือกกันเองรอบเดียว และเป็นการเลือกเฉพาะ 10 กลุ่มอาชีพ ซึ่งยุบรวมมาจาก 20 กลุ่มอาชีพ แต่ครั้งนี้จะเป็นการเลือก สว. เต็มรูปแบบที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการเลือกกันเอง โดยผู้สมัครด้วยตนเอง จำนวน 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ

จึงขอเชิญชวนผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนให้มาสมัครเป็น สว. เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงในกระบวนการเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้ โดยวาระของ สว.ชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 และเมื่อไรก็ตามที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สว. อีก 15 วัน หลังจากนั้นจะมีการรับสมัคร สว.เป็นเวลา 5 วัน ต่อด้วยอีก 5 วัน จะเป็นการประกาศรายชื่อผู้สมัคร และหลังจากปิดการรับสมัครไม่เกิน 20 วัน จะต้องจัดให้มีการเลือกระดับอำเภอ จากนั้นอีก 7 วัน จัดให้มีการเลือกระดับจังหวัด ต่อจากนั้นอีก 10 วันถึงจะเลือกให้เลือกระดับประเทศ จึงคาดว่าจะรู้ผลภายในเดือนกรกฎาคม เมื่อรู้ผลแล้วกฎหมายบอกว่าให้ กกต. รอไว้ก่อน 5 วัน เผื่อมีประเด็นอะไรต่างๆ ที่จะต้องทบทวน แล้วจึงประกาศผล

ประธาน กกต. ฝากผู้สมัครว่า กรุณาศึกษาและตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการสมัครให้ดีๆ และสำรวจตัวเองว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญประสบการณ์อาชีพ และความกลุ่มอาชีพใด เพราะมีกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการสมัครให้ถูกกลุ่ม และศึกษารูปแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการและบทกำหนดโทษ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ซึ่งมีการออพระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 แก้ไขรองรับออกมาแล้ว และหากมีข้อสงสัยต้องการข้อมูล สามารถสอบถามได้ จากสำนักงานกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดต่างๆ สายด่วนกกต. 1444 หรือ Application Smartvote

ส่วนประเด็นป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้น กฎหมายระบุว่า กกต. จะต้องแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการเลือกว่าปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องหรือไม่ มีการกระทำใดที่มีการฝ่าฝืนพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.หรือไม่ และ มีการกระทำใดที่ทำให้การเลือก สว.ไม่ทุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ โดยจะได้รับการสนับสนุนชุดปฏิบัติการข่าวและชุดเคลื่อนที่เร็ว หากพบการกระทำความผิดสามารถแจ้งไปที่ กกต.จังหวัดต่างๆ หรือแอปพลิเคชัน "ตาสับปะรด" ได้ ส่วนบุคคลใดที่สามารถแจ้งเบาะแสอันนำไปสู่การกระทำที่ไม่ทุจริต และเที่ยงธรรม มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลตามระเบียบของ กกต. ว่าด้วยการให้เงินรางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแส โดยรางวัลจะเป็นไปตามลำดับขั้นว่าเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีอย่างไร มีจำนวนสูงสุดคือ 1 ล้านบาท

นายอิทธิพร กล่าวเพิ่มเติมว่า การเลือก สว.ครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้สมัครประมาณ 1 แสนคน เมื่อทำการเลือกในระดับอำเภอ อำเภอหนึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้ได้รับเลือกคะแนนสูงสุด 3 คน 1 อำเภอ 20 กลุ่ม เป็น 60 คน โดยอำเภอทั่วประเทศ คือ 928 อำเภอ เมื่อรวมแล้วจะมี 55,680 คน โดยทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการเลือกระดับจังหวัด เพื่อเลือกผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 คนลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ที่ได้รับเลือกไปสู่การเลือกระดับประเทศ รวม 3,080 คน จากนั้นการเลือกระดับประเทศจะเหลือ 200 คน จำนวน 20 กลุ่มๆละ 10 คน

ประธาน กกต. กล่าวถึงการประมาณตัวเลขผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น สว. 1 แสนคน ว่า เป็นตัวเลขประมาณการในเบื้องต้นของ กกต. ว่าในการเลือก สว. ครั้งนี้จะมีผู้สมัครไม่น้อยกว่านี้ แต่หากมีตัวเลขมากกว่านี้ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะประชาชนที่สนใจสามารถสมัครได้และถึงเวลาก็ไปเลือกกันเองกับกลุ่มอาชีพต่างๆ ยิ่งหากมีจำนวนมาก ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งขณะนี้ได้แจ้งไปยัง กกต.จังหวัดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าหากประชาชนสนใจจะลงสมัคร สามารถสอบถามขั้นตอนและข้อมูลได้ที่ กกต.จังหวัด ถือเป็นความพยายามประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชนที่สนใจ

ส่วนกรณีที่สถาบันการสร้างชาติให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว.นั้น ประธาน กกต. กล่าวว่า ไม่ได้มีกฎหมายห้าม ดังนั้นหากเป็นการจัดการอบรม เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจ น่าจะเป็นส่วนที่ดี เพราะจะช่วยส่งเสริมเผยแพร่ความสำคัญของการสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น สว.