วันนี้ ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ อายุ 52 ปี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และทนายความ ได้ยื่นฟ้อง นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ น.ส.ปภาศรี บัวสวรรค์ รักษาการรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ
กรณีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 จำเลยทั้งสองได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นการฟ้องเท็จโดยกล่าวหาว่าโจทก์แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานหรืออธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องและคดีถึงที่สุดไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาแต่อย่างใด เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง แขวงหัวหมาก เขตหลักสี่ เขตบางกะปิ กทม.ต่อเนื่องกัน
ภายหลังยื่นฟ้องแล้ว ศาลอาญาได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.609/2567 และนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น.
นายสืบพงษ์ กล่าวว่า วันนี้มายื่นฟ้องบุคคลที่เคยไปยื่นฟ้องตนเองต่อศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 2 คนในความผิดฐานฟ้องเท็จ สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ตนเองถูกฟ้องไว้ที่ศาลแขวงพระนครเหนือว่า แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานหรืออธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งที่ความจริงแล้วตนเองดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้รับการโปรดเกล้ามาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.2564 แต่ต่อมาได้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดีด้วยเหตุผลหลายประการ และยังฟ้องข้อหาบุกรุกและใช้ลายเซ็นโดยไม่มีอำนาจ ในช่วงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
นายสืบพงษ์ ยืนยันว่า ตนได้ทำงานปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย กติกาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยไม่มีความคิดที่จะทำสิ่งไม่ดีให้กับองค์กร จึงไม่ทราบว่าทำไมจึงไปยื่นฟ้องตนเองที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ทั้งนี้ตนเองปฏิบัติงานในฐานะอธิการบดีในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้ที่จบการศึกษา เมื่อปี 2566 โดยได้รับการโปรดเกล้าเป็นอธิการบดี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2564 ภายหลังทำงานได้ 3 เดือน ก็ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิบการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระหว่างนั้นก็มักจะมีหนังสือร้องเรียน บัตรสนเท่ห์ จากบุคคล องค์กรต่างๆที่ไม่มีตัวตน ซึ่งสภามหาวิทยาลัยนำมาเป็นเหตุผลข้ออ้างในการตรวจสอบคุณสมบัติ
เมื่อสอบถามถึงประเด็นที่ถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบคุณวุฒิปริญญาเอก นายสืบพงษ์ กล่าวว่า ตนเรียนจบปริญญาเอก จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งปกติเรียนจบจากไหน รัฐบาลประเทศนั้นจะเป็นผู้รับรอง และมหาวิทยาลัยที่เรียนก็มีตัวตน การไปเรียนก็ต้องขอวีซ่าจากสถานฑูต เมื่อเรียนจบมาสมัครเข้าทำงาน ทางมหาวิทยาลัยก็ต้องเรียนตรวจสอบและตนเองก็ทำงานที่มหาลัยรามคำแหงเป็นเวลา 11 ปี กระทั่งมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเมื่อตนได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี ซึ่งทางสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ตรวจสอบคุณสมบัติก่อนเสนอขึ้นโปรดเกล้า แต่หลังจากนั้นก็มีหนังสือเรื่องไม่รับรองคุณวุฒิปริญญาเอกจากทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ และทางกระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีหนังสือชี้แจงแล้วแต่ไม่ทราบรายละเอียด
นายสืบพงษ์ กล่าวว่า ตำแหน่งอธิบการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับการโปรดเกล้าฯ ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ได้รับการเลือกตั้งมาจากนักศึกษา บุคลากรทั้งสายสนับสนุนและสายอาจารย์ ซึ่งขณะนั้นมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง จำนวน 3 คน และตอนนั้นก็ได้ตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว
เมื่อสอบถามถึงประเด็นที่จะเปิดเผยข้อมูลการทุจริตหรือความไม่โปร่งใสในมหาวิทยาลัย นายสืบพงษ์ กล่าวว่า ตนและฝ่ายผู้บริหารเข้าใจไปเองและตั้งคำถามว่า เป็นเพราะเราไปขัดขวางการดำเนินการอะไรหรือเปล่า เรามารับตำแหน่งแล้วจะไม่ช่วยดูแลใครหรือเปล่า ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะช่วงที่เข้ารับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงมีหลายประเด็น เช่น การเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศในมหาวิทยาลัยที่บอกว่าเป็นโครงการประหยัดพลังงานแต่ใช้งบประมาณไป 500 กว่าล้านบาท และเรื่องเงินของคณะบริหารธุรกิจที่หายไปจำนวนหลายล้านบาท และเราจะเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งไม่มั่นใจว่าประเด็นเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นเหตุจูงใจที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นหรือไม่