นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่ามีความกังวลเรื่องอุณหภูมิสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heatstroke) โดยตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน โดยคาดการณ์ว่าปีนี้อุณหภูมิจะสูงกว่าปกติ 1-2 องศาฯ ซึ่งเกี่ยวกับปรากฏการเอลนีโญ
สำหรับมาตรการการดำเนินการเรื่องอากาศร้อน จะคล้ายกับมาตรการป้องกันฝุ่น PM 2.5 มีเรื่องของการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนประชาชน การป้องกันสุขภาพ มาตรการลดอุณหภูมิเมือง ซึ่งเป็นมาตรการระยะยาว โดยในที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 5/2567 ตนได้การสั่งให้สำนักงานเขตทุกเขต ทำการประเมินจุดเสี่ยงในพื้นที่ของตัวเอง ทั้งชุมชน โรงเรียน ไซต์ก่อสร้าง สวนสาธารณะ และเน้นประชาสัมพันธ์สำหรับคนที่แข็งแรง เพราะถ้ามองว่าผู้สูงอายุหรือว่ากลุ่มเสี่ยงเป็นเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบ คนแข็งแรงอย่างคนที่ออกกำลังกายในสวน แรงงานก่อสร้าง หรือเกษตรกร ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
ส่วนในโรงเรียนก็มีการจัดอบรม เพื่อที่จะได้ทราบแนวทางในช่วงที่นักเรียนจะปิดเทอมว่าอยู่บ้านควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร สำหรับเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ก็ควรมีมาตรการในการตระหนักเรื่องนี้ ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ปรับเปลี่ยนเวลาการทำงานของพนักงานที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เพื่อที่จะเว้นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดของวัน
ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการลดอุณหภูมิเมืองอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปลูกต้นไม้ล้านต้น สวน 15 นาที หรือมาตรการทางผังเมืองที่ส่งเสริมพื้นที่สีเขียว
นายชัชชาติ กล่าวว่า เน้นย้ำในเรื่องของการให้ความรู้ประชาชนเพิ่มเติมว่า อุณหภูมิไม่ใช่ตัวสำคัญเพียงอย่างเดียวในการเกิดฮีทสโตรก แต่เป็นเรื่องของ Heat Index เพราะว่าจะมีเรื่องความชื้นด้วย ถ้าอุณหภูมิสูงและความชื้นสูงจะยิ่งหนัก หรือเหงื่อไม่ระเหยทำให้เหมือนกับว่าเราเสียน้ำแต่ว่าอุณหภูมิร่างกายไม่ลดลง ซึ่งจะมีการแจ้งเตือนให้แต่ละโรงเรียนขึ้นป้าย Heat Index ที่แสดงทั้งอุณหภูมิและเรื่องความชื้นว่าอันตรายหรือไม่ เด็กจะได้ระวังระมัดระวังตัวมากยิ่งขึ้น