นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว (DSS Team) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. นำโดยนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมด้วยทีมนักวิทยาศาสตร์ ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาสภาพเครื่องเล่นสนามที่ตั้งอยู่ตามโรงเรียนต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ สืบเนื่องจากข้อมูลของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว รายงานว่า แต่ละปีมีเด็กได้รับบาดเจ็บจากสนามเด็กเล่นไม่ต่ำกว่า 34,000 คน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเล่นที่ผิดวิธี ประมาท ขาดการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเครื่องเล่นล้มทับ เพราะติดตั้งผิดวิธีไม่มีมาตรฐานความปลอดภัย
นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการ อว. ที่ให้ความสำคัญในการดูแลประชาชนในด้านคุณภาพชีวิตและความปลอดภัย และให้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเข้าดูแลประชาชน ทีมเคลื่อนที่เร็ว (DSS Team) จึงได้ลงพื้นที่เร่งด่วนตรวจสอบคุณภาพเครื่องเล่นต่างๆ เนื่องจากมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของเด็กเล็กระดับชั้นอนุบาลหรือประถม ซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมอยู่ภายในโรงเรียน หากเครื่องเล่นสนามที่ติดตั้งภายในโรงเรียนมีความชำรุด เสียหาย หรือเสื่อมโทรมตามกาลเวลา อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงไม่คาดคิดได้
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ DSS Team ได้แบ่งเป็น 2 ทีม เพื่อกระจายลงเก็บตัวอย่าง พร้อมสำรวจสภาพเบื้องต้นของเครื่องเล่นสนามในโรงเรียนกว่า 10 แห่งในพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย เขตพระนคร ดุสิต และราชเทวี โดยตรวจสอบสภาพแวดล้อม การติดตั้งและความปลอดภัยของเครื่องเล่นสนาม รวมถึงสภาพเบื้องต้น เช่น ลักษณะทั่วไป อายุการใช้งาน การติดตั้งของเครื่องเล่นประเภท ชิงช้า ราวโหน โดมปีนป่าย กระดานลื่น ตามรายการเช็คลิสต์ของ วศ. ซึ่งอ้างอิงตามมาตรฐาน มอก. เครื่องเล่นสนาม
ทั้งนี้ DSS Team จะนำข้อมูลสภาพปัญหาเบื้องต้นของเครื่องเล่นฯ ที่ตรวจพบประสานงานกับทางโรงเรียน พร้อมเชิญชวนเข้าร่วมโครงการ "สนามเด็กเล่นปลอดภัย" ภายใต้ "โครงการ QuickWin" ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการเร่งด่วน ดำเนินการโดยกองวัสดุวิศวกรรม (วว.) ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ในการตรวจสอบสาเหตุเชิงลึก แก้ไขปัญหา รวมถึงให้คำแนะนำการบำรุงรักษา เพื่อยืดอายุเครื่องเล่นให้พร้อมใช้งานอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงปลอดภัย ป้องกันการชำรุดเสียหายที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับเด็กต่อไป และจะขยายผลให้หน่วยงานในระดับพื้นที่ทั่วประเทศร่วมตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยเครื่องเล่นสนามในโรงเรียน รวมถึงจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายระดับประเทศให้เกิดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนต่อไป
กรณีประชาชนมีข้อสงสัยด้านคุณภาพเครื่องเล่นสนาม สามารถติดต่อ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อดำเนินการทดสอบคุณภาพดังกล่าวได้ เนื่องจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้รับการแต่งตั้งเป็นหน่วยตรวจสอบเครื่องเล่นสนามสาธารณะจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้บริการทดสอบมาตรฐานเครื่องเล่นสนามทั้งด้านกายภาพและด้านเคมีตามข้อกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก. 3000) ติดต่อสอบถามได้ที่ 02-201-7358-61 , 02-201-70