xs
xsm
sm
md
lg

เขตสุขภาพที่ 9 เผยปีนี้พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง/อาหารเป็นพิษแล้วกว่า 1,800 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า สภาพอากาศร้อนจัดในช่วงนี้อาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานานและปริมาณมาก เช่น กับข้าวที่วางขายในตลาดต่างๆ ข้าวกล่องที่เตรียมไว้บริการผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาต่างๆ รวมทั้งอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน ซึ่งหากอาหารบูดเสีย มีเชื้อโรคปนเปื้อน เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูกเลือด ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ คอแห้งกระหายน้ำ และอาจมีไข้ได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยสามารถจะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นผ่านทางอุจจาระและอาเจียน

ซึ่งสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในประเทศไทย ในห้วงตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2567 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ มากถึง 13,975 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต โดยพบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป ตามลำดับ ส่วนสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 ถึง 10 กุมภาพันธ์ 2567 พบผู้ป่วย จำนวน 1,803 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วยมากสุด 850 ราย รองลงมาคือ จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 409 ราย , จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 402 ราย และจังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 142 ราย ซึ่งกลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ

ดังนั้น ประชาชนควรป้องกันตนเองจากโรคอาหารเป็นพิษ แนะนำให้ยึดหลัก "สุก ร้อน สะอาด" โดยขอให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หากเป็นอาหารค้างมื้อ ควรนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน ให้ดื่มน้ำและน้ำแข็งที่สะอาดมีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานการผลิตสะอาด และล้างวัตถุดิบให้สะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร รวมทั้ง ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก เพื่อลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนเชื้อโรค

นอกจากนี้ ให้หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ และหากอาหารมีรูป รส กลิ่น สี ที่ผิดปกติ ไม่ควรนำมารับประทาน ส่วนข้าวกล่องและอาหารที่เตรียมสำหรับคนหมู่มาก ผู้ปรุงอาหารควรแยกกับข้าวบรรจุใส่ถุงต่างหาก ไม่ควรตักราดข้าว ในขณะที่อาหารบุพเฟ่ต์สำหรับงานเลี้ยง-งานประชุม ไม่ควรเตรียมไว้ข้ามมื้อ และที่สำคัญ อาหารที่ปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง

สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อ มีอาการป่วยโรคอาหารเป็นพิษ ควรให้จิบสารละลายเกลือแร่ โอ อาร์ เอส บ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422