นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งส่งเสริมพลวัตความร่วมมือระหว่างไทยและฮ่องกงในฐานะพันธมิตรทางการค้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมต่อยอดความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้เป็นรูปธรรม จากการหารือระหว่างนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับนายจอห์น ลี คา-ชิว (The Honorable John Lee Ka-chiu) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ในการเดินทางเยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนตุลาคม 2566
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลจากความร่วมมือผ่านการหารือดังกล่าว ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ได้ต่อยอดความสัมพันธ์ทางการค้าไทย-ฮ่องกง ผ่านการหารือร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำกรุงเทพมหานคร (Hong Kong Economic and Trade Office (HKETO), Bangkok) เน้นย้ำถึงนโยบายการผลักดัน Soft Power ด้านสินค้าและบริการไทยไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร อาทิ ข้าวหอมมะลิและผลไม้ไทยที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวฮ่องกง พร้อมชี้ให้เห็นว่าไทยให้ความสำคัญด้านนวัตกรรมอาหาร (Future Food) ที่เหมาะสมต่อวิถีชีวิตของคนฮ่องกง มีศักยภาพและความพร้อมที่จะส่งออกข้าวและผลไม้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาดฮ่องกง
ทั้งนี้ รัฐบาลส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง HKETO กับธุรกิจและสินค้าไทยสู่ตลาดฮ่องกง ผ่านการจัดกิจกรรมงานแสดงสินค้าอาหาร ผลไม้ ข้าวหอมมะลิ ตลอดจนธุรกิจบริการของไทย อาทิ โรงแรม โรงพยาบาล ในปี 2567 เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคชาวฮ่องกงได้รับทราบข้อมูล และสร้างความเชื่อมั่นต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและและใช้บริการของไทย โดยจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2567 อาทิ งานประชาสัมพันธ์ด้านโอกาสทางการค้าและการลงทุนฮ่องกง The Thailand – Hong Kong Business Forum (18 มีนาคม 2567) โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์อาหารไทยและธุรกิจบริการอาหารไทย (1 ธันวาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2567) โครงการส่งเสริมอาหารไทยผ่านช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ (1 มกราคม – 31 สิงหาคม 2567) การจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจในงาน Hong Kong Film & TV Market 2024 (11–14 มีนาคม 2567) โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์ข้าวไทยผ่านร้านอาหารที่มีชื่อเสียงในตลาดฮ่องกง (มิถุนายน –สิงหาคม 2567) และกิจกรรม Thai Fruits Golden Months
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า HKETO สนับสนุนนักธุรกิจไทยไปทำธุรกิจที่ฮ่องกง ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพ ความสามารถของผู้ประกอบการไทย พร้อมชี้ว่า สินค้าแฟชั่นเป็นภาคธุรกิจที่น่าสนใจในตลาดฮ่องกง โดยในปี 2566 พบว่าปริมาณการซื้อสินค้าแฟชั่นเติบโตร้อยละ 43 ขณะที่อัญมณีและเครื่องประดับเติบโตร้อยละ 55 นอกจากนี้ ยังย้ำว่าฮ่องกงยังมีความต้องการด้านอาหารอยู่มาก เช่น โปรตีนทางเลือกและอาหารสุขภาพ ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย
นายชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีวางแนวทางการทำงาน และได้ติดตามความคืบหน้าด้านความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมการต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจ การค้า การลงทุน ระหว่างไทยกับประเทศ/เขตอาณาที่มีศักยภาพ รวมทั้งได้ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้สานต่อผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับบุคคลสำคัญจนทำให้เห็นผลสำเร็จ ตกตะกอนเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ยินดีที่ฮ่องกงสนับสนุนธุรกิจและสินค้าไทยในตลาดฮ่องกง เชื่อว่าสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างไทย-ฮ่องกง ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพื่อผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ และประชาชนของทั้งสองแห่ง