xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระ”เผยผลวิจัยพบกลุ่มติดเชื้อคงค้างระยะยาวเสี่ยงมีปัญหา Long COVID

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า การติดเชื้อคงค้างระยะยาว (Persistent infection)

งานวิจัยล่าสุดโดยทีมจากสหราชอาณาจักร เผยแพร่ในวารสาร Nature เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2024

ชี้ให้เห็นว่า ภายหลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้ว สามารถตรวจพบคนที่มีการติดเชื้อคงค้างระยะยาวเกินกว่า 2 เดือนขึ้นไป ได้ราว 0.1-0.5%

ทั้งนี้ในกลุ่มที่มีการติดเชื้อคงค้างระยะยาว จะมีอัตราการเกิดภาวะปริมาณไวรัสเพิ่มขึ้นกลับซ้ำขึ้นมา หรือที่เรียกว่า rebound นั้นสูง ซึ่งสะท้อนถึงสมรรถนะของไวรัสในการแบ่งตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ กลุ่มที่มีการติดเชื้อคงค้างระยะยาวนี้จะมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหา Long COVID มากขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่มีการติดเชื้อคงค้างถึงกว่า 50%

...หากติดตามความรู้เกี่ยวกับ Long COVID เราคงจำกันได้ว่ามีกลไกที่อธิบายการเกิดปัญหาอยู่หลายกลไก โดยกลไกสำคัญหนึ่งคือการติดเชื้อคงค้างระยะยาว และ/หรือการคงค้างของชิ้นส่วนไวรัส และยังมีกลไกอื่นๆ อาทิ การถูกทำลายของเซลล์ในระบบ/อวัยวะต่างๆ จากการติดเชื้อ, การเกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรัง, ภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง, การที่ไวรัสที่ติดเชื้อแฝงในร่างกายถูกกระตุ้น เช่น EBV ฯลฯ

ในชีวิตจริง เราจะเห็นคนจำนวนไม่น้อยที่หายจากการติดเชื้อช่วงแรก แล้วยังมีอาการผิดปกติต่างๆ ตามมา เช่น ไอ อ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า ใจสั่น ภูมิแพ้กำเริบ ซึ่งเป็นเรื้อรังยาวนานหลายเดือนไปจนถึงเป็นปี

งานวิจัยทั่วโลกชี้ให้เห็นว่าอาการผิดปกติเรื้อรังเหล่านี้บั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งกายและใจ และยังเสี่ยงต่อโรคอื่นด้วย เช่น เบาหวาน หลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ อีกด้วย

การติดเชื้อแต่ละครั้ง นอกจากเสี่ยงป่วย รุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID ได้ ดังนั้นจึงควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวสม่ำเสมอ

อ้างอิง
Prevalence of persistent SARS-CoV-2 in a large community surveillance study. Nature. 21 February 2024.