จากการที่ สภาพรรคการเมืองเสรีนิยมและประชาธิปไตยแห่งเอเชีย (Council of Asian Liberals and Democrats: CALD) ได้ส่งคำเชิญให้พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสภา ระหว่างวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2567 พร้อมกับร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567
พรรคจึงได้มอบหมายให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็น 1ใน 3 ของผู้ริเริ่มจัดตั้ง CALD ขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน ในโครงการผู้นำทางการเมืองนานาชาติ ที่ประเทศโปรตุเกส นอกจากนี้นายอลงกรณ์ยังเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ CALD อีกด้วย และในการเดินทางร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดี อินโดนีเซีย ในครั้งนี้ประกอบด้วย 2 คณะ คือคณะ CALD และ Friedrich Naumann Stiftung (FNS)
นายอลงกรณ์ ระบุว่า ทางคณะได้รับการต้อนรับจาก พรรคประชาธิปัตย์อินโดนีเซีย (PDIP: Indonesia democratic party of Struggle) ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่เป็นสมาชิกของ CALD โดยมีนายฮัสโต คริสติยันโต้ เลขาธิการพรรค คณะ สส. ตลอดจนทีมงานพรรค ให้การต้อนรับ พร้อมกับนำเสนอสถานการณ์การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในอินโดนีเซีย อีกทั้งได้คาดการณ์กันว่า นายกันจาร์ พลาโนโว่ อดีตผู้ว่าฯ ชวากลาง และรองประธานาธิบดี มาห์ฟัด เอ็มดี อดีตรัฐมนตรีประสานงานกิจการการเมืองกฎหมายและความมั่นคง มีโอกาสชนะการเลือกตั้งครั้งนี้
ซึ่งการเลือกตั้งได้กำหนดขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงทะเบียน 204 ล้านคน มีหน่วยเลือกตั้งกว่า 820,000 หน่วย โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มีอายุตั้งแต่ 17 ปี จะใช้สิทธิ์เลือกตั้งตั้งแต่เวลา 7.00 น. ถึง 13.00 น. และจะทราบผลการเลือกตั้งในวันเดียวกัน นับเป็นการเลือกตั้งของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดอันดับสามของโลกจากจำนวนประชากร 270,000,000 คน ที่กระจายอยู่ใน 17,000 เกาะ ที่มีเกาะชวาและเกาะสุมาตราเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันอย่างเข้มข้นเนื่องจากมีประชากรหนาแน่นมากที่สุด
นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ และคณะ ยังได้เข้าร่วมประชุมและรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์การเลือกตั้ง กฎหมายและกระบวนการเลือกตั้งจากสมาคมเพื่อการเลือกตั้งและประชาธิปไตย (PERLUDEM) อีกด้วย