xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ชื่นชมหน่วยงานร่วมมือ ดันไทยมีแนวโน้มการขับเคลื่อน SDGs เป็นไปได้ในระดับสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับทราบการเผยแพร่รายงานประจำปี 2566 ขององค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย และชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ที่ร่วมกันทำงานจนทำให้ไทยมีแนวโน้มความก้าวหน้าการขับเคลื่อน SDGs เป็นไปได้ในระดับสูง

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยและกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ใน 76 จังหวัด อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุม และเป็นรูปธรรม ตามการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) "76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียมและการพัฒนาที่ยั่งยืน"

โดยรายงานฯ ประจำปี 2566 (https://thailand.un.org/en/259712-2023-un-thailand-annual-results-report) สะท้อนให้เห็นถึงกลไกการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้ง 76 จังหวัด เช่น สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเน้นการพัฒนาแผนการดำเนินการของ SDGs ในระดับย่อย

สนับสนุนให้ประชาชนในระดับครัวเรือน 14 ล้านครัวเรือนมีถังขยะเปียกลดโลกร้อนและสามารถจัดการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ส่งผลให้ไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 550,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และเทียบเท่ากับเครดิตคาร์บอนที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ให้การรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตของการดำเนินงานดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ธนาคาร และภาคเอกชนรับซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อให้เกิดรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่นสำหรับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและขยายผลสู่การขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ใน 76 จังหวัดที่ส่งเสริมอัตราการนำขยะรีไซเคิล กลับไปใช้ใหม่ (Recycling Rate) เช่น กระดาษ พลาสติก อลูมิเนียม เป็นต้น

ขณะเดียวกัน รายงานประจำปี 2566 ยังกล่าวถึงการขับเคลื่อนการทำงานด้านมนุษยธรรมเพื่อปรับปรุงข้อมูลของผู้ลี้ภัยและยืนยันสิทธิประชากรที่สามารถเข้าร่วมโครงการการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานในอนาคตสำหรับผู้ลี้ภัยในบริเวณพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยจากการสู้รบจากเมียนมา 9 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเอกชนในการมอบโอกาสทางการศึกษาในระดับปริญญาตรีให้กับผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 6 แห่งในปี 2566 อีกด้วย

ซึ่งองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยได้กล่าวยกย่องพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานพระดำริ “แฟชั่นยั่งยืน (Sustainable Fashion)” ที่ส่งเสริมการใช้สีที่ย้อมจากธรรมชาติและผสมผสานการใช้ลวดลายผ้าพระราชทานกับลวดลายดั้งเดิม ให้กับช่างทอผ้าสตรีจากทั่วประเทศจำนวน 2,000,000 ราย ซึ่งเมื่อประเมินค่าปริมาณก๊าชเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา (Carbon footprint) จากผลิตภัณฑ์ผืนผ้าไทยที่น้อมนำพระดำริสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

พบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวงจรการผลิตลดลง ซึ่งยกระดับให้ผ้าไทยให้รับการยอมรับในระดับสากล สามารถแข่งขันได้สูงขึ้นในตลาดโลก และเพิ่มรายได้ให้ช่างทอผ้าสตรี นอกจากนี้ยังทำให้คนรุ่นใหม่สามารถยอมรับการปฏิบัติที่ยั่งยืนภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าของสิ่งทอหมุนเวียนที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีตระหนักและสนับสนุนการบูรณาการความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการขับเคลื่อน SDGs ในทุกมิติ ทุกพื้นที่ และทุกเวลา อย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุม Action Now เพื่อยกระดับ พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนไทย และเพื่อต่อสู้กับความท้าทายของโลกให้ดียิ่งขึ้น