นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
“การมีคอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลกมาจัดที่เมืองไทยคือตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจไม่วิกฤติ” คนที่พูดแบบนี้ ถ้าไม่ได้พูดเพราะอคติ ก็พูดเพราะมองเรื่องเศรษฐกิจฉาบฉวยเกินไป
คอนเสิร์ตระดับโลกที่มาจัดในประเทศไทยสะท้อนภาพสามภาพ
1. ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล ภาพลักษณ์ของประเทศประชาธิปไตย เป็นประเทศที่มีความปลอดภัย มีความพร้อมเรื่องสาธารณูปโภคที่รองรับคอนเสิร์ตระดับโลกได้ เป็น destination ทางดนตรี ศิลปะบันเทิงระดับนานาชาติ เหล่านี้ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ เป็นสัญลักษณ์ว่าประเทศนี้ น่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน
2. การที่ประเทศไทยมีกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ จะเห็นว่า กลุ่มลูกค้ามีทั้งคนไทย expat และอาจมีคนที่ตั้งใจบินมาประเทศไทยเพื่อดูคอนเสิร์ต
3. กลุ่มคนไทยที่มีกำลังซื้อ เป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ จุดนี้สะท้อนความเหลื่อมล้ำ ความมั่งคั่งที่กระจุกตัวอยู่ และเป็นปัญหาที่รัฐบาลและตัวผมพูดมาโดยตลอดว่าต้องแก้ไข
เราจะกระจายความมั่งคั่งออกไปสู่ประชาชนในวงกว้างที่สุดได้ ขนาดเศรษฐกิจเราต้องใหญ่กว่านี้ และนี่คือสิ่งที่ผมบอกว่า เรามีวิกฤติเศรษฐกิจ GDP เราไม่โตและถดถอยต่อเนื่องมา 10 ปี หนี้ครัวเรือนสูง หนี้นอกระบบคือวิกฤติของชาติ
คน 1% ของประเทศไม่เดือดร้อน แต่เวลาดูว่าประเทศวิกฤติทางเศรษฐกิจ เราดูที่เศรษฐกิจของคน 99% ครับ
ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่จัดคอนเสิร์ต เพราะรัฐบาลที่ทำงานเป็นย่อมรู้ว่า คอนเสิร์ตระดับโลกที่มาจัดเมืองไทยเป็นทั้ง branding ของประเทศ และจะเป็นเครื่องมือในการสร้างเศรษฐกิจ รัฐบาลมีนโยบายทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการจัดงานเทศกาล และ exhibition ระดับโลก เพื่อดึงคนให้เข้ามาร่วมงานและใช้จ่ายในประเทศไทย
เพราะเศรษฐกิจเราวิกฤติ เราจึงต้องทำหลาย ๆ อย่างเพื่อกอบกู้ประเทศขึ้นมา เราต้องทำทั้งเพิ่มขนาดของ GDP ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ให้ประชาชน และสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เป็นสากลบนเวทีโลกจากมิติของ ดนตรีและศิลปะครับ“