xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวง-พระราชินี ทรงเจิมเทียนรุ่ง เนื่องในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันมาฆฯ - สังเวยพระป้ายเทศกาลตรุษจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วันนี้ 10 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 07.35 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงเจิมเทียนรุ่ง เนื่องในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันมาฆบูชา และทรงประกอบพิธีสังเวยพระป้ายในเทศกาลตรุษจีน พุทธศักราช 2567

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่าย และทรงเจิมเทียนรุ่งที่ทรงพระราชอุทิศถวายพระราชทานไปจุดบูชาพระรัตนตรัยถวายเป็นพุทธบูชาตามพระอารามหลวงต่าง ๆ เนื่องในพระราชพิธี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันมาฆบูชา จำนวน 6 วัด ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร และวัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ต่อจากนั้น เวลา 08.01 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จลง ณ บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงประกอบพิธีสังเวยพระป้ายในเทศกาลตรุษจีน พุทธศักราช ๒๕๖๗

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน ธูป ที่โต๊ะเครื่องสังเวย ทรงจุดธูปหางแล้วทรงปักที่เครื่องสังเวย สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปหางแล้วทรงปักที่เครื่องสังเวย จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทรงกราบ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทรงกราบ เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงเผากระดาษเงิน กระดาษทอง สมควรแก่เวลา จึงเสด็จขึ้นพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พิธีสังเวยพระป้าย มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ตามที่ทรงมีพระราชดำริว่า การแต้มป้ายเป็นธรรมเนียมของชนชาติจีน ซึ่งนับถือบรรพบุรุษเป็นที่พึ่ง และเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสานพิธีดังกล่าว โดยมีการแต้มพระป้ายพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช
กับพระนามสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญพระป้ายไปประดิษฐาน ณ พระราชวังบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ปัจจุบัน พระป้าย สำหรับประกอบพิธีสังเวยพระป้าย ประดิษฐาน
ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน เป็นพระป้ายพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช กับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จารึกเป็นภาษาจีน บนแผ่นไม้จันทน์ปิดทอง และพระป้ายที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น เป็นเทวรูปหล่อ ทรงเครื่องกษัตริยาธิราช เหมือนพระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์มีลักษณะคล้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช สร้างด้วยไม้จันทน์จำหลักลงรักปิดทอง มีฉัตรทอง 5 ชั้น ตั้งอยู่ 2 ข้าง และจารึกพระปรมาภิไธยเป็นภาษาจีน ด้านหลังซุ้มเรือนแก้ว พิธีสังเวยพระป้าย เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีและแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีของลูกหลานที่มีต่อบรรพบุรุษ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงยึดถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมประกอบพิธีสังเวยพระป้าย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์ ไปประกอบพิธีสังเวยพระป้าย ณ พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นประจำทุกปี