นายชนินทร์ รุ่งแสง รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีตประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจสภาผู้แทนฯ (ปชป.) กล่าวว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เรียกร้องให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเศรษฐกิจนั้น มองว่าลดดอกเบี้ยแค่ 25 สตางค์ ไม่ได้ช่วยอะไร และกว่าจะส่งผลเศรษฐกิจจริงๆ ก็ไม่ใช่ระยะสั้นประมาณ 1 ปี ถึงจะเห็นผลทางเศรษฐกิจ แต่ควรไปขอให้แบงก์ชาติดำเนินการเรื่องมาตรการ LTV (Loan-to- Ratio) มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย” คือ เกณฑ์อัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาบ้านที่รัฐบาลกำหนดไว้ ซึ่งทำให้ผู้ที่ต้องการกู้เงินจากธนาคารเพื่อนำมาซื้อบ้าน “ถูกจำกัดวงเงินในการกู้ตามกำหนด”
ทั้งนี้ หากเราช่วยอสังหาริมทรัพย์ จะได้ผลผลิตทางเศรษฐกิจชัดเจน และเร็วกว่า ทำไมเรื่องแค่นี้ นายกรัฐมนตรีที่มาจากภาคอสังหาริมทรัพย์แท้ๆ จึงไม่เข้าใจและไม่สนใจ ซึ่งที่สำคัญรัฐบาล คือ ฝ่ายการเมือง ควรรักษาระยะห่างการเข้าไปกดดันเกี่ยวพันกับแบงก์ชาติมากเกินไป จะทำให้ภาพความน่าเชื่อถือของแบงก์ชาติที่ต้องการความเป็นอิสระลดลง
นายชนินทร์ กล่าวย้ำว่า นโยบายคลัง คือ กลไกสำคัญที่อยู่ในมือรัฐบาล เหมือนลูกบอลอยู่ในเท้า ทำไมไม่ใช้ จะต้องรอโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอย่างเดียว ไม่มีแผนสองอยู่ในสมองบ้างเลยหรือ อย่างนี้จะดูแลประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าที่จะดูแลคนยากจน ที่รอการช่วยเหลืออยู่ได้อย่างไร
ขณะเดียวกัน ถ้าโครงการดิจิทัล วอลเล็ตไปไม่ไหว ยังไม่มีกำหนดที่ชัดเจน รัฐบาลควรดูแลคนจน กลุ่มเปราะบาง จำนวนไม่ถึง 20,000,000 คน ให้มีเงินใช้จ่ายอยู่ในมือ ซึ่งทำได้ทันที และไม่ต้องกู้เพราะใช้เงินประมาณ 200,000,000,000 บาท จบโครงการ โดยปัญหาเรื่องการบริโภคในประเทศ ไม่ได้มีปัญหารุนแรง เพราะว่ามีการเติบโตอยู่จากตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ และแบงก์ชาติก็โตอยู่ประมาณ 7-8% แต่ที่มีปัญหา คือ การบริโภคใช้จ่ายของภาครัฐที่ลดลง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำได้อยู่แล้ว คือการไปเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุน ให้รวดเร็ว แต่ต้องไม่รั่วไหล
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อลดลงไม่ใช่เรื่องที่จะตีความว่า “เศรษฐกิจแย่”เพราะรู้กันอยู่ มาจากการเข้าไปอุดหนุนราคาพลังงานน้ำมันและไฟฟ้า ทำให้เงินเฟ้อผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง
ดังนั้นช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศมีปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจก็มาก ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การลงทุน และการจ้างงาน โดยเฉพาะภาคบริการปรับตัวดีขึ้น แต่ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี โทษใครไม่ได้ นอกจากการบริหารประเทศที่ล้มเหลวของรัฐบาลเอง